เทคโนโลยีการบัญชี เครื่องมือทางการเงินกับการพัฒนา และกรณีศึกษา บ.เลห์แมน บราเธอร์ส (ต่อ)

ต่อไปนี้คือตัวอย่าง และการไขปริศนาว่า ทำไม บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส ต้องล้มละลาย เพื่อใช้เป็น Lesson – Learned หรือกรณีศึกษาที่ดีสำหรับคณะกรรมการ ผู้บริหาร ผู้ตรวจสอบ และผู้กำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิเคราะห์ความเสี่ยง และผลกระทบที่เกิดจากการบิดเบือนข้อมูลทางการเงิน รวมทั้งผลกระทบจาก Risk IT และ IT Risk ที่มีผลต่อ Business Risk ที่ผู้บริหารทุกระดับ และผู้ปฏิบัติควรเข้าใจและตระหนักถึงภัยจากกระบวนการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีปัญหา..

ขอให้ท่านผู้อ่านที่สนใจติดตามเรื่องนี้ได้อ่าน และใช้ดุลยพินิจในการวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงตามที่ได้กล่าวข้างต้น เมื่อเทียบกับความเข้าใจที่ท่านมีอยู่ต่อ Technology Risk และ Process Risk ที่มีผลต่อ People Risk ซึ่งโดยรวม ๆ เรียกกันว่า Operational Risk ว่าท่านได้สนใจมุมมองที่จะกล่าวต่อไปนี้เมื่อเทียบกับกรณี การทุจริต ประมาณ 6 แสนล้านบาท เมื่อต้นปี 2551 ของธนาคาร Soc Gen ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของประเทศฝรั่งเศส ก็มีสาเหตุจากการตบแต่งข้อมูล และการบิดเบือนข้อมูล ที่ทำให้ผู้อ่านงบการเงิน และผู้วิเคราะห์งบการเงิน ที่เป็น Stakeholders ไม่อาจติดตามข้อเท็จจริงได้ จนกระทั่งความเสียหายครั้งมโหฬารได้เกิดขึ้นแล้ว

สาเหตุก็เกิดจากการใช้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไปบิดเบือนข้อมูลทางการเงิน และการบัญชี การรายงาน รวมทั้งการตรวจสอบที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือมีความรู้ไม่เท่าทันกับผลกระทบจาก Technology Risk หรือ Risk IT และ IT Risk ต่อ Business Risk นั่นเอง

ท่านได้ศึกษากรณี Soc Gen และได้นำไปลดช่องว่างที่สถาบันการเงินของท่าน อาจมีจุดอ่อนจากกระบวนการทำงาน และระบบงานประมาณ 20 กิจกรรมของความเสี่ยงแล้วหรือยังครับ

สำหรับกรณีของบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส มีรายละเอียดจากการตรวจสอบ ปรากฏในรายงานของ นายแอนตัน วาลูกัส ผู้ตรวจสอบ ซึ่งได้รับคำแต่งตั้งจากศาลล้มละลาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ตรวจสอบพฤติกรรมที่ทำให้บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส ต้องล้มละลาย ดังนี้…

รายงานได้มีการเผยแพร่ผลการตรวจสอบการล้มละลายของ เลห์แมน บราเธอร์ส อดีตวาณิชธนกิจแถวหน้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีทางการเงิน การบัญชี และเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ ผสมผสานกัน เพื่อตบแต่งงบการเงินให้บิดเบือนไปจากความเป็นจริง

รายงานการตรวจสอบมีความหนาประมาณ 2,200 หน้า โดยผู้ตรวจสอบและทีมงานของแอนตัน วาลูกัส ได้เปิดเผยถึงกรณี บริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส เผชิญกับภาวะล้มละลาย เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2551 จากพฤติกรรมที่น่าชวนสนเท่ห์ มีชื่อเรียกที่รับรู้กันเป็นการภายในว่า เรโป 105 (Repo 105) ได้ถูกตีแผ่ออกมา โดยกินเนื้อที่ในรายงานมากถึง 328

อะไรคือ เรโป 105 ที่ใช้ในการตบแต่งข้อมูลทางการบัญชี และการเงิน
ในเอกสารของนายวาลูกัสระบุว่า เลห์แมนฯ ใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี่ตบแต่งรายการบัญชีนอกงบดุล รู้จักกันภายในบริษัทว่า ธุรกรรม “เรโป 105” และ “เรโป 108” ซึ่งเป็นการโยกย้ายตราสารจำนวนหนึ่งออกไปจากงบดุลบัญชีชั่วคราว โดยปกติจะกินระยะเวลา ประมาณ 7 – 10 วัน และเครื่องมือดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างภาพที่ทำให้เข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับฐานะการเงินของบริษัท ในช่วงปลายปี 2550 และ 2551

โดยสรุป ข้อตกลงของ “เรโป” เป็นกลวิธีทางบัญชีที่ เลห์แมน บราเธอร์ส นำมาใช้ในรูปของข้อตกลงซื้อคืน เพื่อเปิดช่องให้สามารถแลกเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นเงินสดได้ชั่วคราว โดยวางโครงสร้างให้เหมือนเป็นการขาย เพื่อให้ดูเหมือนว่าความเสี่ยงจากการก่อหนี้ดังกล่าวได้หมดไปจากงบดุลและบัญชีของบริษัท

จริง ๆ แล้ว เลห์แมน บราเธอร์ส เริ่มใช้เครื่องมือนี้มาตั้งแต่ปี 2544 แต่เพิ่งมาใช้บ่อยครั้งในช่วยสิ้นปี 2550 และ จำนวนการใช้ธุรกรรมเรโป 105 มีปริมาณมากที่สุดในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2551 เพื่อช่วยผ่องถ่ายสินทรัพย์มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ออกไปจากงบดุลบัญชีของบริษัทเป็นการชั่วคราว

กรณีศึกษานี้ยังมีรายละเอียดอีกพอสมควร ขอได้โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ

1 Responses to เทคโนโลยีการบัญชี เครื่องมือทางการเงินกับการพัฒนา และกรณีศึกษา บ.เลห์แมน บราเธอร์ส (ต่อ)

  1. ดูหนูสู่รูงูงูสุดสู้หนูสู้งู หนูงูสู้ดูอยู่รูปงูทู่หนูมูทู พูดว่า:

    ตอนต่อไปออกมารึยังค่ะรออ่านคะ

ใส่ความเห็น