ความเสี่ยงกับมุมมองของการติดตามของผู้บริหาร และการตรวจสอบ – ด้านกลยุทธ์ ตอน 9

เมษายน 5, 2011

ความเข้าใจและคำแนะนำบางประการในการจัดการความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ เพื่อการบริหารและการตรวจสอบ

ในครั้งก่อน ๆ ผมได้กล่าวถึงการทบทวนและการวางแผนกลยุทธ์ ซึ่งต้องมีกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง ดังที่ได้เล่าสู่กันฟังในตอนที่แล้ว สำหรับครั้งนี้ผมจะขอเล่าถึงรายละเอียดที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดทำแผนการดำเนินงานและงบประมาณ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ เพื่อการติดตามของผู้บริหารและการตรวจสอบ โดยที่ผู้บริหารสามารถกำหนดวิธีการบริหารแผนการดำเนินงานและงบประมาณได้ 2 ลักษณะ หรือจะเป็นในลักษณะของการผสมผสาน เพือให้เหมาะสมและสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ ตามที่ผมจะได้กล่าวถึงต่อไปนี้

กระบวนการจัดทําแผนดําเนินงานและงบประมาณ คณะกรรมการฯ หรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย และผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทําแผนดําเนินงานและงบประมาณรวม ขณะเดียวกันฝ่ายงานต่าง ๆ มีหน้าที่จัดทําแผนดําเนินงานและงบประมาณที่สอดคล้องกับแผนดําเนินงานและงบประมาณรวม แยกเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี โดยแผนดําเนินงานและงบประมาณอาจจัดทําโดยวิธีการบริหารแบบบนลงล่าง (top down approach) วิธีการบริหารแบบล่างขึ้นบน (bottom up approach) หรือ วิธีผสมของทั้ง 2 วิธี

โดย (1) วิธีการบริหารแบบบนลงล่าง เป็นกระบวนการจัดทําแผนกลยุทธ์ โดยคณะกรรมการฯ หรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย และผู้บริหารระดับสูง มอบหมายและจัดสรรเป้าหมายการปฏิบัติงานให้ฝ่ายงานต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งมีข้อดี คือ สะดวกต่อการวางแผนและควบคุมงบประมาณ แต่ก็มีข้อเสีย คือ แผนกลยุทธ์ที่จัดสรรอาจไม่สะท้อน ความเป็นจริง หรือไม่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละฝ่ายงาน หรือเป็นไปได้ยากที่จะปฏิบัติให้สําเร็จตามแผนกลยุทธ์

(2) วิธีการบริหารแบบล่างขึ้นบน เป็นกระบวนการจัดทําแผนดําเนินงานและงบประมาณจากแต่ละฝ่ายงานรวมเป็นแผนกลยุทธ์ ซึ่งมีข้อดี คือ ฝ่ายงานสามารถกําหนดเป้าหมายและจัดสรรทรัพยากร เพื่อมุ่งปฏิบัติให้บรรลุตามแผนกลยุทธ์ที่ตนกําหนดได้เต็มที่ ข้อเสีย คือ วิธีการบริหารแบบล่างขึ้นบน จะปฏิบัติได้ยากกว่าวิธีการบริหารแบบบนลงล่าง เนื่องจากอาจเกิดปัญหาทรัพยากรไม่เพียงพอสําหรับทุกหน่วยงาน และแผนดําเนินงานและงบประมาณของแต่ละฝ่ายไม่สอดคล้องกันทั้งในภาพรวมและระดับฝ่ายงาน

ตัวอย่างตารางแผนการดำเนินงาน

ในการประเมินความเหมาะสมของการวางแผนกลยุทธ์องค์กร คณะกรรมการฯ หรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย และผู้บริหารระดับสูงจะต้องสอบทานแผนดําเนินงานและงบประมาณควบคู่กันไป ซึ่งจะช่วยให้ทราบถึงแผนธุรกิจในอนาคตและสาระสําคัญอื่น ๆ เช่น ความเพียงพอของทรัพยากร สภาพคล่อง แหล่งได้มาและใช้ไปของเงินทุน ระดับและคุณภาพของรายได้ และประสิทธิภาพของการบริหารงาน โดยการประเมินความเหมาะสมของแผนดําเนินงานและงบประมาณควรคํานึงถึงประเด็นดังนี้

(1) แผนดําเนินงานและงบประมาณ องค์กรสามารถใช้งบประมาณเพื่อประมาณการและควบคุมการดําเนินงานทั้งหมดหรือบางส่วน รวมทั้งวัดประสิทธิภาพของผู้บริหารในการตัดสินใจ การจัดทําแผน และการปฏิบัติงาน โดยการเปรียบเทียบงบประมาณกับผลการดําเนินงานจริง เช่น การจัดทํา งบประมาณและประมาณการระยะยาว 4 หรือ 5 ปี ถ้าเปรียบเทียบผลการดําเนินงานที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการระยะยาว จะแตกต่างมากกว่าการเปรียบเทียบกับประมาณการระยะสั้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เช่น สภาพการแข่งขัน ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ เป็นต้น จึงควรมีการทบทวนประมาณการระยะยาวอย่างน้อยทุกปี เพื่อจะได้ปรับปรุงแผนตามการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม และเพื่อให้สามารถติดตามการดําเนินงานอย่างใกล้ชิด และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว องค์กรควรทบทวนประมาณการระยะสั้น อย่างน้อยทุกเดือนหรือทุกไตรมาส เพื่อเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการฯ หรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย และผู้บริหารระดับสูง

ทั้งนี้ การวัดและประเมินผลสําเร็จเพื่อกําหนดผลตอบแทน ควรขึ้นอยู่กับงบประมาณ หรือประมาณการที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการฯ หรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย และผู้บริหารระดับสูงอย่างเป็นทางการในครั้งแรก ก่อนการทบทวนประมาณการเพื่อสะท้อนศักยภาพในการทํางานจริง นอกจากนี้ องค์กรควรจัดทําประมาณการภายใต้สมมติฐานที่แตกต่างกัน โดยใช้สถานการณ์ที่ไม่ปกติในระดับต่าง ๆ ตามการวิเคราะห์แนวโน้มทางเศรษฐกิจ และประสบการณ์ในการดําเนินธุรกิจ

(2) ความสอดคล้องของแผนดําเนินงานและงบประมาณกับแผนกลยุทธ์ แผนดําเนินงานและงบประมาณของแต่ละฝ่ายงาน ควรสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์และงบประมาณรวมขององค์กร ทั้งนี้ เมื่อพบว่าเกิดความไม่สอดคล้องกันขึ้น ผู้บริหารในแต่ละฝ่ายงานควรชี้แจงปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติตามแผนดังกล่าว พร้อมทั้งมาตรการรองรับให้คณะกรรมการฯ หรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย และผู้ริหารระดับสูงทราบ เพื่อจัดทําแผนรองรับการดําเนินธุรกิจโดยรวมต่อไป

(3) ความสมเหตุสมผลของสมมติฐานในการจัดทําแผนดําเนินงาน และ งบประมาณ การพิจารณาความสมเหตุสมผลของสมมติฐานที่ใช้ จะพิจารณาจากข้อมูลที่ใช้เป็นพื้นฐานในการกําหนดสมมติฐานว่า ต้องมีความน่าเชื่อถือ มีจํานวนมากเพียงพอ และไม่ล้าสมัย รวมทั้งสอดคล้องหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลที่ใช้จัดทําแผนกลยุทธ์

(4) ความเพียงพอของงบประมาณที่จัดสรรสําหรับงานด้านบริหารและสนับสนุน คณะกรรมการฯ คณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย และผู้บริหารระดับสูงควรให้ความสําคัญกับหน่วยงานสนับสนุน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณให้อย่างเพียงพอเช่นเดียวกับสายงานหลัก และควรปรับปรุงระบบการบริหารความเสี่ยง ระบบสารสนเทศและการรายงานอย่างต่อเนื่อง

(5) การติดตามผลการดําเนินงานจริง เมื่อเปรียบเทียบกับแผนดําเนินงานและงบประมาณ คณะกรรมการฯ หรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย และผู้บริหารระดับสูง มีหน้าที่ติดตามผลการดําเนินงานจริงเปรียบเทียบกับแผนดําเนินงานและงบประมาณอย่างสม่ำาเสมอ รวมทั้งวิเคราะห์สาเหตุที่เกิดผลแตกต่างอย่างมีนัยสําคัญ และกําหนดแนวทางแก้ไข การเปรียบเทียบดังกล่าว สามารถใช้ประเมินความสําเร็จโดยรวมขององค์กรและฝ่ายงานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

แผนงบประมาณ

(6) ความเหมาะสมของผลตอบแทน คณะกรรมการฯ หรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย และผู้บริหารระดับสูง ควรกําหนดนโยบายการให้ผลตอบแทนอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับผลการปฏิบัติงานจริง เมื่อเปรียบเทียบกับแผนดําเนินงานและงบประมาณที่กําหนดไว้ รวมทั้งมีการประกาศให้มีการปฏิบัติและทราบโดยทั่วกัน

เมื่อได้กำหนดกระบวนการจัดทำแผนการดำเนินงาน มีการวางแผนงบประมาณเพื่อให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์และสามารถปฏิบัติงานตามแผนที่วางไว้ ยังมีสิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารจำเป็นต้องติดตามและตรวจสอบ ที่จะขาดเสียมิได้นั่นก็คือ การติดตามและการรายงานความเสี่ยง ซึ่งผมจะขอนำไปเล่าสู่กันฟังในครั้งหน้านะครับ


itgthailand.com ย้าย host ใหม่

มีนาคม 3, 2011

สวัสดีครับ ทุกท่าน ผมต้องขออภัยในความไม่สะดวก หลังจากที่ http://www.itgthailand.com แห่งนี้ ไม่สามารถเข้าใช้งานได้หลายวัน เพราะมีปัญหาในเรื่องของ host ทำให้ทุกท่านไม่สามารถติดตามเนื้อหา สาระ ข่าวสารความเคลื่อนไหวจากทางเว็บได้ ผมจึงขอแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า ตอนนี้ http://www.itgthailand.com ได้ดำเนินการย้าย host ไปที่แห่งใหม่เรียบร้อย และสามารถใช้งานได้ตามปกติแล้วครับ โดยเราได้รับการเอื้อเฟื้อ และให้การช่วยเหลือเป็นอย่างดีจาก ดร. ปริญญา หอมอเนก และคุณนิพนธ์ จาก เอซิส โปรเฟสชั่นแนล เซ็นเตอร์ (ACIS Professional Center) สถาบันที่ให้ความรู้ที่หลากหลายทางด้าน Information Security/Technology+++ ผมต้องขอขอบคุณทั้ง 2 ท่าน เป็นอย่างยิ่ง รวมถึงคุณกฤษณีย์ เกียรติไพบูลย์ แห่ง วินท์คอม เทคโนโลยี (Vintcom Technology) ที่คอยอำนวยความสะดวกแก่เราเสมอมา ทำให้ http://www.itgthailand.com นี้ยังคงสามารถดำเนินงานเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร และสาระประโยชน์ให้แก่สาธารณชนผู้สนใจทุกท่านได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อมิให้ทุกท่านพลาดการติดตามเนื้อหา สาระประโยชน์ จาก itgthailand ผมจะ update ข้อมูลควบคู่ไปกับ www.itgthailand.wordpress.com อย่างสม่ำเสมอ เพื่อรองรับหากเกิดกรณีที่ไม่สามารถใช้งาน itgthailand.com ได้

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม itgthailand ครับ