ความชัดเจนของแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015 ที่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดทำแผนแม่บทไอซีทีของไทยในอนาคต

ผมได้อ่านแผนแม่บทไอซีทีของอาเซียน 2015 (ASEAN ICT Masterplan 2015) ที่แปลโดย ดร. มนู อรดีดลเชษฐ์ ซึ่งใน ASEAN ICT Masterplan 2015 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ และจุดประสงค์ที่ต้องการจะบรรลุผล ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานการขับเคลื่อนและเสริมสร้างพลังของเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เกิดการปฏิรูป โดยอาศัยไอซีทีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพวกเรา ทั้งในด้านความเป็นอยู่ การเีรียนรู้ การทำงาน จนถึงด้านนันทนาการ

ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในอาเซียน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาคม และภาคธุรกิจ ทั้งที่พัฒนาแล้ว และที่กำลังพัฒนา ทั้งที่อยู่ในเมือง และในชนบท ทั้งเยาวชนและผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ที่มีโอกาสและที่ด้อยโอกาส เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม เื้อื้อต่อการสร้างธุรกิจใหม่ และกระตุ้นให้ไอซีทีเบ่งบานและประสบความสำเร็จ รวมทั้งทำให้เกิดการเชื่อมต่อกันในอาเซียน ระหว่างประชาชน รัฐบาล และธุรกิจ

แผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015

ทั้งนี้ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ตามมาด้วยผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับจากแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015 4 ประการ ซึ่งพิจารณาได้ว่าเป็น Output – Outcome ที่ชัดเจนคือ

1. ไอซีทีเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตสำหรับอาเซียน
2. ยอมรับว่าอาเซียนเป็นศูนย์กลางไอซีทีระดับโลก
3. เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนในอาเซียน
4. มีผลต่อการรวมตัวในอาเซียน

ซึ่งผลลัพธ์ตามข้อสุดท้ายนี้ สรุปได้สั้น ๆ คือ ไอซีทีจะช่วยให้เกิดความร่วมมือกันมากมาย ระหว่างกลุ่มธุรกิจ และประชาชน จนนำไปสู่การรวมตัวของอาเซียน

ทั้งนี้ แผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015 มีแรงขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ 6 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน และก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สรุปย่อ ๆ ดังนี้

1. การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ
2. การเสริมสร้างพลังให้แก่ประชาชนและให้ประชาชนมีส่วนร่วม
3. การสร้างนวัตกรรม
4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
5. การพัฒนาทุนมนุษย์
6. การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี

สำหรับข้อที่ 6 นี้ อาเซียนจะให้ความสำคัญเรื่องความแตกต่างของการพัฒนา และการใช้ไอซีที ทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศในภูมิภาค อาเซียนจะเน้นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในบริบทของความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ไอซีทีในวงกว้าง

ทั้งนี้ยังมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแผนงานและมีการอธิบายไว้อย่างชัดเจน สามารถเข้าใจได้ง่าย นำไปปฏิบัติได้ ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดทำแผนแม่บทไอซีทีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ในอนาคตต่อไป

ซึ่งอย่างน้อยแผนแม่บทไอซีทีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 นั้น ควรจะมีความสอดคล้องกับแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015 และการปรับปรุงที่จะมีตามมา

ASEAN ICT Masterplan 2015

อนึ่ง ผมได้เล่าถึง Output – Outcome ที่จะได้รับตามวิสัยทัศน์ของแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015 ตามที่กล่าวข้างต้นนั้น แต่ยังไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดของวิสัยทัศน์ดังกล่าว ซึ่งวิสัยทัศน์ในแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015 ที่ ดร. มนู ดรดีดลเชษฐ์ แปลได้ใจความดังนี้

ไอซีทีจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อให้เกิดการรวมตัวทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจในอาเซียน ไอซีทีจะช่วยการปฏิรูปอาเซียนให้เป็นตลาดเดียว ด้วยวิธีพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานไอซีทียุคใหม่ และพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีฝีมือ ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์และนวัตกรรม จัดให้มีนโยบาย ส่งเสริม และสร้างสภาพแวดล้อมที่มีกฎระเบียบ ด้วยมาตรการดังกล่าว อาเซียนจะเสริมสร้างพลังให้แก่ชุมชน และผลักดันให้อาเซียนมีสถานภาพเป็นศูนย์กลางไอซีที ที่ครอบคลุมได้อย่างทั่วถึง และคึกคัก ส่งผลให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่เหมาะกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

สำหรับรายละเอียดของ ASEAN ICT Masterplan 2015 ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2554 ที่แปลโดย ดร. มนู อรดีดลเชษฐ์ ที่เข้าใจได้ง่ายนั้น ผมจะลงนำเสนอในตอนต่อไปตามสมควร

2 Responses to ความชัดเจนของแผนแม่บทไอซีทีอาเซียน 2015 ที่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดทำแผนแม่บทไอซีทีของไทยในอนาคต

  1. sakchai พูดว่า:

    เพิ่งเข้ามาเห็น Web นี้ครับ มีบทความที่น่าสนใจมากมาย จะขอ Follow ขอบคุณครับ

  2. arty7221 พูดว่า:

    แล้วเราจะทราบรายละเอียดของแผนแม่บทไอซีทีของประเทศไทยได้จากที่ไหนบ้างคะ

ใส่ความเห็น