ความเชื่อ กับ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development ตอนที่ 10

กันยายน 18, 2017

Governance and Digital Governance and Innovative Technology / Business Model

ในตอนที่ 9 ผมได้กล่าวไว้ตอนท้ายว่า ท่านผู้ว่าการ ธปท. ได้พูดถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ Innovative Technology และ Business Model ยุคใหม่ ในการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างน้อย 3 มิติ ซึ่งได้นำเสนอข้างต้นไปแล้วในมิติแรก ส่วนอีก 2 มิติ ที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญ คือ การเพิ่ม “ผลิตภาพ” และมิติสุดท้าย คือ การสร้างภูมิคุ้มกันนั้น

ในตอนที่ 10 นี้ ผมจะนำเรื่องที่ท่านผู้ว่าการ ธปท. ท่านวิรไท สันติประภพ ในงาน Dinner Talk ที่โรงแรม Grand Hyatt Erawan ซึ่งจัดโดยสถาบันพัฒนากรรมการไทย – IOD เรื่อง “Board of Directors and their Roles in Driving Thailand Forward” มาเล่าต่อ โดยผสมผสานกับมิติของธรรมาภิบาล/Governance อีกมิติหนึ่ง คือ Digital Governance ที่เกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กับคำว่า Governance อย่างใกล้ชิด และแยกกันไม่ได้ ความหมายคำว่า Digital Governance ในที่นี้ก็คือ กรอบของการกำกับดูแลการบริหารไอทีระดับองค์กรและระดับประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดความรับผิดชอบของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรและประเทศที่ชัดเจน เพื่อกำหนดนโยบายทางด้าน Digital หรือพูดให้ชัดขึ้นไปอีกก็น่าจะพูดได้ว่า เป็นการกำหนดวิธีการพัฒนาระบบบูรณาการ เชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ การผลักดันการจัดทำ และการใช้มาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสามารถจะเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานภาคเอกชน ในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยกำหนดความรับผิดชอบที่ชัดเจนในเรื่อง หลักการและกรอบการดำเนินงานทางด้าน Digital Governance Framework  นโยบาย กลยุทธ์ และมาตรฐานต่างๆ ที่เป็นสากล เพื่อก้าวไปสู่ Digital Economy ภายใต้กรอบ Thailand 4.0  

 

Source : ISACA

สำหรับวิธีการพัฒนาระบบบูรณาการ เพื่อการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ที่น่าจะเป็นแนวทางของรัฐนั้น หากจะพูดเป็นกรอบสั้นๆ ในการเตรียมการเบื้องต้น น่าจะเกี่ยวข้องกับการออกแบบสถาปัตยกรรม/EA-Enterprise Architecture เป็นส่วนใหญ่ ก็คือ

  • การกำหนดวิสัยทัศน์ ในภาพรวมของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
  • การสร้างสถาปัตยกรรมธุรกรรมภาครัฐโดยรวม
  • การสร้างสถาปัตยกรรมระบบงานและข้อมูล
  • การกำหนดสถาปัตยกรรมเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับ Digital Governance
  • ศึกษาความเป็นไปได้
  • การวางแผนการดำเนินงาน ในการเชื่อมโยงธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง
  • การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Digital Governance)
  • การปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ภาครัฐควรกำหนดแนวทางผลักดันในการจัดทำ ในการใช้มาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานของรัฐ (Collaborative e-Business/e-Government) ซึ่งตัวอย่างในเรื่องนี้ก็ได้แก่ สิ่งที่รัฐบาลได้ทำไปบ้างแล้วนั่นคือ National Single Window (NSW) ซึ่งยังต้องการการพัฒนาต่อเนื่องต่อไป นอกจากนี้ ควรศึกษามาตรฐานระดับประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรอบนโยบายการพัฒนาระบบเชื่อมโยง Collaborative e-Government พูดง่ายๆ ก็คือ ทุกอย่างต้องมีมาตรฐานในทุกหมวดที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กรอบ Digital Governance

เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องท้าทาย หากจะก้าวไปสู่เป้าหมาย Thailand 4.0 / Digital Economy ซึ่งภาครัฐควรจะกำหนดบทบาทและใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ผ่านมีเดียต่างๆ รวมทั้งการมอบหมายอำนาจ หน้าที่การปฏิบัติงานให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องการบริหารความเสี่ยงที่ดี และการบริหารทรัพยากรที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งในหัวข้อของ Digital Governance นี้จะเชื่อมโยงกับหลักการของ Corporate Governance + IT Governance + Governance of Enterprise IT อย่างบูรณาการ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของประเทศในขณะนี้คือ Thailand 4.0 ที่จะเกี่ยวข้องกับทุกมิติ ภายใต้หลักการและกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดียุค Innovative Technology และ Business Model ยุคใหม่ ที่จะเกี่ยวข้องกับ Digital ในแทบทุกเรื่องหลักๆ ทั้งระดับองค์กร และระดับประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า จะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐ ทุกหน่วยงาน ที่จะต้องขับเคลื่อนโดยผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งด้านความคิดและปฏิบัติที่ดี ซึ่งผมเคยได้เล่าสู่กันฟังในตอนต้นๆ และในเรื่องที่เกี่ยวข้องไปบ้างแล้ว

ตอนนี้ผมได้เกริ่นนำจากเรื่อง  Innovative Technology และ Business Model ไปสู่กรอบที่เกี่ยวข้องคือ Digital Governance อย่างไรก็ดี ผมจะขอนำเสนอปราศรัยของท่านผู้ว่า ธปท. ในมิติที่ 2 และมิติที่ 3 ต่อจากนี้เลยนะครับ

มิติที่ 2 ที่คณะกรรมการบริษัทอาจจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่ม “ผลิตภาพ”

วันนี้ที่เราเห็นศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลง และประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในไม่ช้า หมายความว่าในอนาคต คนไทยในวัยทำงานต้องเก่งขึ้นกว่าคนไทยในวันนี้มาก ต้องมีผลิตภาพสูงขึ้น เพราะคนไทยแต่ละคนต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น เรื่องผลิตภาพเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญ การเพิ่มผลิตภาพสามารถทำได้หลายแนวทาง เช่น

การใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลิตภาพ เป็นเรื่องที่สำคัญการลงทุนของภาคธุรกิจไม่ควรคิดเพียงเพื่อ เพิ่มกำลังการผลิตอย่างเดียว แต่จำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อเป็นฐานของการสร้างนวัตกรรม การวิจัยและการพัฒนา (R&D) เพื่อยกระดับศักยภาพและผลิตภาพของธุรกิจของตน พลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่จะทำให้โลกใหม่ของเรา มีข้อมูลรายธุรกรรม (digital footprint) ของทุกกิจกรรมในการดำเนินชีวิตของเรา ข้อมูลในระบบ digital จะเป็นพลังมหาศาลที่จะช่วยให้เรายกระดับประสิทธิภาพการทำงานในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การทำการตลาด รวมถึงการบริหารความเสี่ยง มองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับดิจิทัลจะเกิดขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าเดิมมาก ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทัน

นอกจากนี้ การลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพที่จะสำคัญมากขึ้นในโลกใหม่ คือ การลงทุนในสิ่งที่เรียกว่าเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (intangible assets) ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) การสร้างบุคลากรโดยเฉพาะผู้นำขององค์กร การสร้างระบบจัดการความรู้ในองค์กร ตลอดจนการพัฒนาความรู้ และทักษะตลอดชีวิตการทำงานของพนักงาน

การพัฒนาคนในภาคธุรกิจมีความสำคัญมาก ทุกวันนี้คนไทยในวัยแรงงานอยู่ในภาคเอกชน มากกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด การสร้างคนของภาคธุรกิจจึงเท่ากับการสร้างคนให้กับประเทศ ในบริบทของโลกยุคใหม่ คนไทยต้องมีทักษะหลายอย่างที่ระบบการศึกษาดั้งเดิมอาจจะไม่ได้สอนไว้ ถ้าจะให้คนไทยเก่งขึ้น เท่าทันกับบริบทของโลกยุคใหม่แล้ว ภาคธุรกิจจะสามารถมีบทบาทสำคัญ ในการยกระดับศักยภาพของคนไทยให้มีทักษะที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้ตลอดชีวิต มีทักษะที่จะรับมือ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น ทักษะที่จะมีความสำคัญมากขึ้น มีหลายเรื่องตั้งแต่ทักษะในการคิดอย่างเป็นระบบ มีตรรกะ ทักษะในการคิดสร้างสรรค์ ทักษะในการสื่อสาร และที่สำคัญคือทักษะในการประสานความร่วมมือกับคนอื่น ในการแก้โจทย์ที่ยาก เรามักได้ยินว่าคนไทย “เก่ง” แต่เป็นความเก่งเฉพาะบุคคล ขณะที่การทำงานร่วมกับผู้อื่นกลับ “มีข้อจำกัด” ในอนาคตความสามารถประสานความร่วมมือจะยิ่งสำคัญมากขึ้น ซึ่งตรงนี้คือจุดแข็งของภาคธุรกิจไทย และภาคธุรกิจสามารถที่จะช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะแบบนี้แก่สังคมไทยได้

มิติที่ 3 ของการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ คือ ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการ “สร้างภูมิคุ้มกัน”

ท่านผู้มีเกียรติครับ ในบริบทโลกที่เป็น VUCA ที่ผันผวนมากขึ้น ไม่แน่นอน ซับซ้อน ยากที่จะคาดเดา จำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญต่อ “การสร้างภูมิคุ้มกัน” ธุรกิจจำเป็นต้องมีทักษะและความสามารถ ในการบริหารจัดการความผันผวน และความไม่แน่นอนในรูปแบบต่างๆ

ในด้านการเงินนั้น ธุรกิจต้องเข้าใจลักษณะความเสี่ยงทางการเงินสมัยใหม่ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยง กระจายความเสี่ยง และจัดโครงสร้างทางการเงินได้อย่างเหมาะสม เราต้องช่วยกันดูแล ไม่ใช้เงินกู้ระยะสั้นสำหรับลงทุนในโครงการระยะยาว (maturity mismatch) ไม่ใช้เงินสกุลต่างกันระหว่างหนี้สินและทรัพย์สินโดยไม่ปิดความเสี่ยงจนเกิด (currency mismatch) และต้องบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยไม่ชะล่าใจว่า จะมีใครมาคอยดูแลความเสี่ยงเรื่องค่าเงินให้ เราต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในช่วงหลังนี้มีสาเหตุสำคัญมาจากเหตุการณ์นอกประเทศเป็นหลัก ในวันนี้น่ากังวลใจเพราะงานศึกษาของ ธปท. ที่ลงรายละเอียดพบว่า ผู้ส่งออกกว่าร้อยละ 60 ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากด้านการเงินแล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันที่สำคัญมาก คือ การบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ หรือ strategic risks หนึ่งในความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ของโลกยุคใหม่คือ การไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (business model) ได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ในโลกยุคใหม่นี้ การยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ก็นับว่าเป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ที่ต้องระมัดระวัง เราเห็นบทเรียนของหลายบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องล้มไปเพราะปรับตัวไม่ทัน ดังนั้น การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความคล่องตัว (agility) มีกรอบความคิดที่ยืดหยุ่น เป็นภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับธุรกิจในโลกยุคใหม่

นอกจากนี้ การละเลยและไม่คำนึงถึงผลกระทบของการทำธุรกิจต่อสังคม  และไม่เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจของตนกับของสังคม ก็เป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์และความเสี่ยงต่อชื่อเสียงที่สำคัญของธุรกิจเช่นกัน ธุรกิจจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการมองรอบ มองกว้าง มองไกล และมองด้วยความเข้าใจ

แนวทางหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องนี้ในระยะยาวในความคิดของผมคือ “การสร้างความไว้วางใจ” จากผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งในประเทศไทยมีหลายบริษัท ได้ยึดถือเรื่องนี้เป็นแนวปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นต้นแบบที่ดี ในโลกธุรกิจที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นรวดเร็วจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี ความคาดหวังและมาตรฐานของสังคมจะสูงขึ้น จะทำให้โจทย์ของธุรกิจยากขึ้น ในสภาวะที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เรื่องหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจได้เปรียบคู่แข่งคือ “ความไว้วางใจ” จากคนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้บริโภค ผู้ผลิตวัตถุดิบต้นทาง พนักงาน ตลอดจน ชุมชนและสังคมรอบตัว จะต้องสร้างความไว้วางใจให้ประชาชน สามารถตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจได้อย่างโปร่งใส สิ่งเหล่านี้ผมเชื่อว่า ทุกท่านคงเห็นด้วยว่าไม่ได้เป็นเพียงเรื่องการสร้างภาพ แต่เป็นการสร้างความไว้วางใจจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วย “จิตวิญญาณ” และ “ปรัชญา” การทำงานขององค์กร ซึ่งหมายความว่า คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง และจริงใจในการดำเนินธุรกิจ

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ ภายใต้ความท้าทายและบริบทโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และยากที่จะคาดเดา รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่องที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาศักยภาพการเติบโตที่ลดลง ปัญหาผลิตภาพ ปัญหาคุณภาพขององค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจเป็นภาคที่มีศักยภาพสูงมากที่จะมีบทบาทในการเป็นผู้นำ มีบทบาทช่วยแก้ไขปัญหา ยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และยกระดับคุณภาพสังคมไทยได้ และเป็น “แนวทาง” ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วย “คณะกรรมการบริษัท” เป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุด ในการ “กำหนดทิศทาง” จัดสรรทรัพยากรและกำกับการดำเนินงานของภาคธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจไทย เศรษฐกิจไทยและสังคมไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผมเชื่อมั่นว่า ธุรกิจไทยจะชนะได้ก็ต่อเมื่อสังคมไทยวัฒนา

ขอบคุณครับ

ผมได้นำคำปราศรัยของท่านผู้ว่าการ ธปท. รวม 4 ตอน มาลงประกอบเรื่อง ความเชื่อ กับ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development เพื่อให้ทราบถึงทัศนะของผู้บริหารระดับสูงที่มีต่อ Innovative Technology / Business Model โดยผมนำมาเชื่อมโยงกับ Digital Governance ให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงไปยัง Thailand 4.0 เพราะเกี่ยวข้องกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องพัฒนาขึ้นมาให้มีความชัดเจน ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจของผู้นำและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง และควรมีหลักการ วิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย กลยุทธ์ แผนการดำเนินงาน และโครงการต่างๆ ที่ชัดเจนและเป็นบุรณาการให้สอดคล้องกับการสร้างคุณค่าเพิ่ม ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยง และการบริหารทรัพยากรที่ดี เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วมอย่างได้ดุลยภาพ นี่คือ กระดุมเม็ดแรกของ Governance ครับ


ความเชื่อ กับ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development ตอนที่ 9

กรกฎาคม 20, 2017

ความเข้าใจในความหมายของคำว่า “ธรรมาภิบาล” หรือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี กับความโปร่งใส

ในตอนที่ 8 ภาคต่อ ที่ผมได้กล่าวว่า ความเข้าใจในความหมายของคำว่า Governance หรือ ธรรมาภิบาล หรือ การกำกับดูแลกิจการ หรือแม้แต่จะใช้คำว่า การกำกับดูแลกิจการทีดี นั้น อาจมีความเข้าใจที่แตกต่างกันพอสมควร ทำให้การกำกับดูแลในภาพโดยรวมของประเทศ หรือภาพโดยรวมขององค์กร มีความแตกต่างกันได้ในการกำกับและปฏิบัติ ซึ่งในตอนที่แล้วผมได้อธิบายถึงกรอบการกำกับทางด้านธรรมาภิบาลที่ดี ที่มีหลักการและใช้บริบทของโลก ครอบคลุมปัจจัยต่างๆ เพื่อใช้เป็นกรอบในการอธิบายความเข้าใจของคำว่า Governance ซึ่งยังไม่ได้คำคำจำกัดความสั้นๆ ถึงความหมาย หรือคำจำกัดความ ที่ผมขอสรุปว่า

การกำกับดูแล (Governance) หมายถึง การทำให้มั่นใจได้ว่า ความต้องการ เงื่อนไข และทางเลือกของผู้มีส่วนได้เสีย ได้รับการประเมินเพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ที่องค์กรหรือประเทศต้องการ ให้บรรลุซึ่งความสมดุลและเห็นชอบร่วมกัน มีกำหนดทิศทางผ่านการจัดลำดับความสำคัญของการบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อการตัดสินใจ และมีการเฝ้าติดตามผลการดำเนินงาน และการปฏิบัติตาม เทียบกับทิศทางและวัตถุประสงค์ที่ได้มีการตกลงร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียหลักร่วมกัน (ทั้งนี้ ความหมายหรือคำจำกัดความดังกล่าว เป็นไปตามกรอบการดำเนินงานทางธุรกิจสำหรับการกำกับดูแลและการบริหารจัดการไอทีระดับองค์กร / ISACA – COBIT5)

อย่างไรก็ดี คำจำกัดความของ Governance ดังกล่าว ใช้เป็นกรอบการดำเนินงานทางธุรกิจในแต่ละองค์กร หรือแม้จะนำไปใช้เป็นกรอบการดำเนินงานของประเทศ ในการก้าวไปสู่การกำกับดูแล และการบริหารการจัดการ IT ระดับองค์กร หรือสู่ระดับประเทศที่เรียกว่า Thailand 4.0 ก็ได้ ทั้งนี้ คำจำกัดความดังกล่าว

การที่ผมได้กล่าวตามวรรคต้น  การนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ไปใช้อธิบายในหน่วยงานกำกับ (Governing Body/ Regulator) หรือในหน่วยงานที่ถูกกำกับ (Regulated – Entity) นั้น อาจมีการให้ความหมายของคำว่า การกำกับดูแลกิจการ Governance ที่เน้นในกรอบ ตามกิจกรรมและบริบทโดยรวมของกลุ่มองค์กรภายใต้การกำกับ และเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานกำกับ (Regulators / Governing Body) ตัวอย่างเช่น ทางกลต. ได้อธิบายคำว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดี หมายถึง ความสัมพันธ์ในเชิงการกำกับดูแล รวมทั้งกลไก มาตรการที่ใช้กำกับการตัดสินใจ ของคนในองค์กร ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ในการกำกับบริษัทจดทะเบียนฯ ซึ่งรวมถึง

  1. การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลัก (objectives)
  2. การกำหนดกลยุทธ์ นโยบาย และพิจารณาอนุมัติแผนงานและงบประมาณ และ
  3. การติดตาม ประเมิน และดูแลการรายงานผลการดำเนินงาน

“การกำกับดูแลกิจการที่ดี” ตามหลักปฏิบัตินี้ หมายถึง การกำกับดูแลกิจการที่เป็นไปเพื่อการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งคณะกรรมการควรกำกับดูแลให้นำไปสู่ผล (Governance Outcome) อย่างน้อย ดังต่อไปนี้

 1) สามารถแข่งขันได้และมีผลประกอบการที่ดี โดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว (Competitiveness and performance with long-term perspective)

2) ประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้สีย (Ethical and responsible bussinesss)

3) เป็นประโยชน์ต่อสังคม และพัฒนาหรือลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม (Good cormporate citizenship)

4) สามารถปรับตัวได้ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง (Corporate resilience)

(ทั้งนี้ ขอบเขต คำจำกัดความนี้เป็นไปตามนิยาม Corporate Governance ของ G20/OECD)

จากการศึกษาโดยละเอียด คำจำกัดความของคำว่า Governance ทั้งตามหลักการ COBIT5 ของ ISACA และ ตามนิยาม Corporate Governace ของ G20/OECD ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ – กลต. นำมากำหนดเป็นหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และได้กำหนดเพิ่มเติมเป็นหลักปฏิบัติ และแนวปฏิบัติ เพื่อให้คณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นผู้นำหรือผู้รับผิดชอบสูงสุดขององค์กรนำไปปรับใช้ในการกำกับดูแล ให้กิจการมีผลประกอบการที่ดีในระยะยาว น่าเชื่อถือสำหรับผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสีย ในการสร้างคุณค่าให้กับกิจการอย่างยั่งยืนนั้น เมื่อได้ศึกษาแล้วก็พบว่ามีความสอดคล้องกันเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น หากรัฐบาลหรือหน่วยงาน และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในการกำกับ / Governing Body ภาครัฐ จะสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องความหมายของ Governance หรือการกำกับดูแลกิจการทีดีในระดับประเทศ จะกำหนดคำอธิบายหรือความหมาย ซึ่งรวมไปถึงการสื่อสารในหลักปฏิบัติ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีระดับประเทศ ก็จะมีกรอบและแนวทางดำเนินการได้อย่างชัดเจน และสามารถสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี และแน่นอน จะเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับ ความหมายตามคำนิยามของ Corporate Governance / Governance ที่ครอบคลุมเป้าหมายและความคิดหลักของ OECD ซึ่งใช้เป็นกรอบในการกำหนดวิสัยทัศน์ หลักการ และรูปแบบการบริหารธุรกิจของประเทศอย่างมีคุณค่า ได้สอดคล้องกันในทุกระดับของกระบวนการจัดการที่ดีที่เป็นสากล

 

และจากการปราศรัยของท่านผู้ว่าการ ธปท. ท่านวิรไท สันติประภพ ในงาน Dinner Talk ที่โรงแรม Grand Hyatt Erawan ซึ่งจัดโดยสถาบันพัฒนากรรมการไทย – IOD เรื่อง “Board of Directors and their Roles in Driving Thailand Forward” มีสาระน่าสนใจยิ่ง ซึ่งในมุมมองของผม หัวข้อและสาระนี้ สามารถนำมาใช้ประยุกต์ในการสร้างความเข้าใจ เพื่อการพัฒนาความเชื่อและสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน ที่เกี่ยวโยงกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้กับผู้บริหาร คณะกรรมการ และผู้นำขององค์กร และผู้นำของประเทศได้ดีมาก และผมได้นำเสนอไปใน 2 ครั้งที่แล้ว โดยเฉพาะในมิติของการสร้างกลยุทธ์ขององค์กรและของประเทศต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับความหมายของคำว่า Governance หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งตอนนี้น่าจะเป็นที่เข้าใจตรงกันแล้วนะครับ และผมจะขอนำเสนอปราศรัยของท่านผู้ว่า ธปท. ต่อดังนี้ :-

ท่านผู้มีเกียรติครับ ภายใต้บริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศต้องเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่อง ประกอบกับเราไม่อาจคาดหวังให้การแก้ปัญหาต่างๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้น ยากขึ้น เป็นหน้าที่ของภาครัฐแต่เพียงผู้เดียว เพราะแม้ว่าภาครัฐกำลังดำเนินการปฏิรูปในหลายด้าน แต่ก็มีข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างสถาบัน กฎระเบียบ บุคลากร ตลอดจนกระบวนการทำงานที่มีขั้นตอนมาก

คำถามสำคัญคือ คนกลุ่มใดบ้างที่จะสามารถเป็นพลังและมีศักยภาพ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพของสังคมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม

ผมคิดว่า “ภาคธุรกิจ” โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่มีศักยภาพสูงมากที่จะทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี เพราะนักธุรกิจ โดยเฉพาะผู้บริหารธุรกิจขนาดใหญ่มี “ประสบการณ์” และ “ทักษะ” ในการบริหารการเปลี่ยนแปลง และหลายธุรกิจของไทยก็มีความสามารถทัดเทียมกับคู่แข่งในระดับโลก เข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในโลก อีกทั้ง ภาคธุรกิจมีทุนและบุคลากรที่มีความสามารถ ที่สำคัญคือ ภาคธุรกิจ “คิดไกล” และ “คิดแบบมีพลวัต” เพราะการลงทุนทางธุรกิจต้องคิดถึงผลตอบแทนและสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจในระยะยาว

นอกจากภาคธุรกิจจะมีศักยภาพที่จะยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และยกระดับคุณภาพของสังคมไทยแล้ว เมื่อพิจารณาบางปัญหาที่รุนแรงและไหลลงอย่างรวดเร็ว หลายท่านคงเห็นไม่ต่างจากผมว่า หากเราไม่ช่วยกันคนละไม้คนละมือแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว ในที่สุด ผลเสียที่เกิดขึ้นจะกลับมาเหนี่ยวรั้งศักยภาพของภาคธุรกิจ เป็นต้นทุนแฝงในอนาคตที่อาจจะสูงกว่าต้นทุนของการแก้ไขปัญหาในวันนี้มาก ถ้าเรายัง “ซื้อ” เวลาต่อไปเพราะคิดว่า เป็นเรื่องระยะยาว เราอาจจะเหลือโอกาสน้อยมากที่จะคิดถึงเรื่องความยั่งยืน เพราะในอนาคตเราต้องใช้ทรัพยากรส่วนใหญ่ ดิ้นรนแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อความอยู่รอด ไม่สามารถ “เดินหน้า” ให้ยั่งยืนอย่างมียุทธศาสตร์ได้

คำถามสำคัญต่อมาคือ ภาคธุรกิจควรมีบทบาทอย่างไรในการยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และคุณภาพของสังคมไทย ผมคิดว่าภาคธุรกิจ ซึ่งมีคณะกรรมการบริษัทเป็นมันสมองสำคัญในการคิดพิจารณา วางแผนสั่งการ และกำกับการทำงานของธุรกิจ สามารถมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างน้อย 3 มิติ ดังต่อไปนี้

มิติที่ 1 ภาคธุรกิจต้องตระหนักว่า ตนมีบทบาทของการเป็นพลเมืองที่ดี หรือ “Good Corporate Citizen” กล่าวคือ ธุรกิจพึงตระหนักว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เป็นหน้าที่ที่สำคัญของตน ธุรกิจสามารถตอบโจทย์ของสังคม ไปพร้อมกับการขยายธุรกิจ การทำกำไรและสร้างความสามารถในการแข่งขันของตนได้ด้วย หากทำสำเร็จ ก็จะช่วยแก้ปัญหาของประเทศในลักษณะที่เรียกว่า “ธุรกิจชนะ สังคมวัฒนา”

อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนเรื่องนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าเราไม่ได้รับความสำคัญจากคณะกรรมการของบริษัท และผู้บริหารระดับสูง เพราะท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ขององค์กร การสร้าง tone from the top ให้ถูกเปรียบเสมือนการ “การกลัดกระดุมเม็ดแรก” ให้ถูก ผมคิดว่าในการเป็น Good Corporate Citizen ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างน้อย 2 ด้าน โดยผมจะขอใช้ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นในธุรกิจธนาคารพาณิชย์มาเล่าให้ฟัง

ด้านที่หนึ่ง ธุรกิจต้องไม่สร้างปัญหาเพิ่มเติมให้กับสังคม

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ร่วมมือกันปรับปรุง “จรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์” ให้ทันสมัยเท่าทันกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และเท่าทันกับความคาดหวังของลูกค้าและสังคม ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ตกลงร่วมกันที่จะยึดมั่นจรรยาบรรณนี้เป็นหลักในการประกอบธุรกิจ หลายเรื่องที่ปรากฏในจรรยาบรรณฉบับนี้ เป็นเรื่องที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยมีข้อกังขาหรือประสบปัญหาอยู่ และธนาคารพาณิชย์ตกลงร่วมกันที่จะแก้ไขอย่างจริงจัง เช่น การเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่ต้องตรงกับความต้องการของลูกค้า การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การเงินอย่างตรงไปตรงมา การรักษาข้อมูลลูกค้าเป็นความลับ การจัดการเรื่องร้องเรียนของลูกค้าด้วยขั้นตอนที่ชัดเจนและเหมาะสม รวมถึงตกลงที่จะไม่ร่วมกันกำหนดราคาการให้บริการอย่างไม่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้ ด้านหนึ่งสะท้อนความตั้งใจที่จะดูแล และให้บริการลูกค้าอย่างตรงไปตรงมาและเป็นธรรม และอีกด้านก็สะท้อนความพยายามที่จะไม่สร้างปัญหาเพิ่มเติมให้กับสังคม

อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ผมเชื่อว่าทุกท่านคุ้นเคยดี คือ การร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา “คอร์รัปชัน” ผ่าน “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน” เพราะถ้าเราไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาคอร์รัปชันได้ ต้นทุนการทำธุรกิจจะสูงขึ้นมาก อัตราการจ่ายเงินใต้โต๊ะจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการแข่งขันจะไม่วัดที่ความสามารถ เพราะการแข่งขันจะขึ้นอยู่กับว่า “ใครจ่ายมากกว่า” ผลที่ตามมาคือ “ธุรกิจที่เก่งและดี” จะไม่มีที่ยืนในสังคมไทย

ด้านที่สอง ของการทำหน้าที่ Good Corporate Citizen คือการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ตนเองมีความชำนาญ หรือมีบทบาทเกี่ยวข้อง

เรามักจะได้ยินบ่อยๆ ว่า ภาคธุรกิจเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาของเศรษฐกิจไทย เรามีภาคธุรกิจที่เก่งในหลายด้าน ถ้าแต่ละแห่งช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนา ในงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนหรือที่ตนมีความชำนาญ เมื่อรวมกันก็จะกลายพลังใหญ่ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพของสังคมได้

ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นภาคธุรกิจเข้าไปร่วมในหลายโครงการพัฒนาสังคมโครงการประชารัฐ แต่อาจจะไม่พอ ไม่เท่าทันกับปัญหาของสังคมไทยที่ไหลลงเร็ว และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดเร็วขึ้น ผมขอสนับสนุนให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะคณะกรรมการบริษัทมองกว้างถึงความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจของตนกับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม มองยาวไปในอนาคตถึงผลประโยชน์ หรือผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าเราทำแต่เพียงแบบเดิมๆ หรือนิ่งเฉยไม่ทำอะไร การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ผมขอเล่าให้ฟังถึง 2 โครงการที่ธนาคารพาณิชย์ได้ดำเนินการร่วมกันในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เพิ่มเติมจากเรื่องจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์

  1. โครงการ “พร้อมเพย์” ที่สมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังและอีกหลายหน่วยงานร่วมมือกันผลักดันให้เกิดขึ้น แม้ว่าระบบพร้อมเพย์ เมื่อประชาชนใช้บริการจนเป็นที่นิยมเต็มที่แล้ว จะทำให้ธนาคารพาณิชย์เสียรายได้จากค่าธรรมเนียมเงินโอนผ่านช่องทางเดิมๆ นับหมื่นล้านบาทต่อปี และมีต้นทุนต้องปรับรูปแบบช่องทางการให้บริการอีกไม่น้อย แต่ธนาคารพาณิชย์ได้ร่วมกันเสียสละผลประโยชน์ เพื่อสร้างระบบพร้อมเพย์ขึ้นมา ซึ่งเปรียบเหมือน “ถนนสายใหม่ด้านการชำระเงิน” ของประเทศ เป็นถนนที่จะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายเงิน รวมทั้งการจ่ายเงินสวัสดิการของภาครัฐ และช่วยให้ประชาชนในระดับฐานราก เข้าถึงบริการชำระเงินในราคาที่ถูกที่สุดในโลก เพราะการโอนเงินต่ำกว่า 5 พันบาทที่ไม่มีค่าธรรมเนียม มีความหมายต่อคนระดับฐานรากมาก และในระยะยาว พร้อมเพย์จะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการ เงินสดของประเทศ ซึ่งสูงกว่าหลายหมื่นล้านบาทในแต่ละปี รวมทั้งระบบพร้อมเพย์ สามารถช่วยต่อยอดการทำธุรกิจได้อีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจด้าน e-commerce
  1. โครงการที่สองที่เราเพิ่งประกาศไป คือ โครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ด้วยการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานกลางเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้บุคคล ที่มีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งปกติลูกหนี้ต้องเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละแห่งที่มีหลักเกณฑ์และมาตรฐานแตกต่างกัน ทำให้ประสบความสำเร็จได้ยาก คนก็จะติดในวงจรหนี้ โครงการคลินิกแก้หนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้ที่สุจริตและมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหา มีทางออก สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ และมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงมาก ในขณะเดียวกันก็ลดปัญหา coordination failure ระหว่างเจ้าหนี้หลายราย โดยจะมีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง ที่จะทำหน้าที่แทนเจ้าหนี้ ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับศักยภาพการจ่ายของลูกหนี้ โครงการคลินิกแก้หนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ภาคธุรกิจสามารถร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหาสังคม ที่ตนอาจจะมีส่วนร่วมทำให้เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจที่ผ่านมา

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ แนวคิด “ธุรกิจชนะ สังคมวัฒนา” ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝัน หากทุกคนมีทัศนคติในการทำงานเช่นนี้ จะสามารถช่วยกันยับยั้งปัญหาของประเทศที่ไหลลงได้ ภาคธุรกิจไม่ควรประเมิน “พลัง” ของตัวเองในการเป็น Good Corporate Citizen ต่ำเกินไป ในเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เกี่ยวกับการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า

“…ตั้งแต่สมัยโบราณ ใครเป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระเจ้าอยู่หัวก็ต้องดูแลราษฎร อีกประการหนึ่งคือ ท่านเป็น “พลเมืองดี” ของชาติ การเป็นพลเมืองดีคือ เห็นอะไรที่เราจะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ …”

 ในทางตรงกันข้าม หากภาคธุรกิจยัง “รีรอ” ไม่คิดจะใช้ “พลัง” ที่มีเพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคม เพราะ “กลัว” เสียผลประโยชน์ในระยะสั้น แล้วปล่อยให้ปัญหาต่างๆ ใหญ่โตขึ้น สุดท้าย ปัญหาเหล่านั้นก็จะส่งผลย้อนมากระทบตัวธุรกิจเอง เพราะถ้าปัญหาสังคมโดยรวมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วธุรกิจจะต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนแฝง

ทั้งนี้ ท่านผู้ว่าการ ธปท. ยังได้กล่าวถึง การเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ Innovative Technology และ Business Model ยุคใหม่ ในการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างน้อย 3 มิติ ซึ่งได้นำเสนอข้างต้นไปแล้วในมิติแรก ส่วนอีก 2 มิติ ที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญ คือ การเพิ่ม “ผลิตภาพ” และมิติสุดท้าย คือ การสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งผมขอนำไปเสนอในตอนหน้า และจะย้ำเรื่องความโปร่งใสภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพิ่มขึ้นนะครับ


ความเชื่อ กับ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development ตอนที่ 8

มิถุนายน 17, 2017

ผลกระทบต่อความเชื่อ ต่อการไม่ตอบสนองความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วม (ภาคต่อ)

ในการเขียนหรือเล่าสู่กันฟังในเรื่องเกี่ยวกับ ความเชื่อกับการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ของผมนั้น มีเป้าประสงค์หลักที่จะแบ่งปันความคิด ปัจจัย และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องที่คำนึงถึงหลักการ กรอบการกำกับดูแลการบริหารประเทศ และการบริหารองค์กรที่ดี ที่ควรคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในระดับประเทศและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องที่เกี่ยวกับบริบทของโลก ที่ไม่อาจคำนึงถึงเพียงบริบทของไทยได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะโลกของเรานี้มีการติดต่อ เชื่อมโยงถึงกันได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที ด้วยการพลิกโฉมของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการคิดค้นการสร้างคุณค่าเพิ่ม ที่สามารถสร้างความได้เปรียบ ด้านต้นทุนและการแข่งขัน ที่มี Business Model ในการกำกับและการบริหารจัดการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หากประเทศไทยไม่ได้คำนึงถึงบริบทโลก หรือมาตรฐานสากล และกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่เรียกว่า ธรรมาภิบาลสากล นั้น ก็คงยากที่จะพาประเทศไทยก้าวพ้นกับดักของประเทศผู้มีรายได้ปานกลาง ซึ่งประเทศไทยได้ติดอยู่ในบ่วงของประเทศผู้มีรายได้ปานกลางมามากกว่า 20 ปีแล้ว และอาจจะยังต้องติดอยู่ในบ่วงประเทศผู้มีรายได้ปานกลางไปอีกนานปี เพราะผู้บริหารระดับสูงหรือผู้นำของประเทศ ยังมีความเข้าใจในบริบทของคำว่า “ธรรมาภิบาล” หรือ “Governance” ที่แตกต่างกัน

ผมขอพูดสั้นๆ เป็นการเกริ่นนำของ ความเชื่อกับการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ในตอนที่ 8 นี้ว่า ความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบได้ หรือ การไม่ทุจริต หรือ การเป็นคนดี หรือ การเป็นคนมีคุณธรรม หรือ การเป็นคนสุจริต หรือ การมุ่งผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศชาติเป็นหลัก +++ แต่ผู้นำในระดับประเทศหรือในระดับองค์กร ขาดวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล ขาดนโยบายที่ชัดเจน ขาดการวางกลยุทธ์ที่เหมาะสม ขาดการวางแผนงานที่เหมาะสม ขาดการติดตามที่เหมาะสม ขาดการมีเครื่องมือวัดศักยภาพที่มีประสิทธิผล ในเป้าหมายเป้าประสงค์ต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและในระดับองค์กร ที่ขาดหลักการอันเป็นที่ยอมรับในการใช้เป็นกรอบการดำเนินงาน ในการผลักดันให้ประเทศไปสู่การมีรายได้สูง หรือเป็นประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว ตามที่รัฐบาลกำหนดเอาไว้ว่า ภายในปี 2575 ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว นั่นคือ 100 ปี นับจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ก็จะเป็นเพียงความฝันที่ไม่อาจเป็นจริงได้เลย ถ้าหากประเทศชาติไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ และขาดความเชื่อมั่นทางด้านธรรมาภิบาลระดับประเทศที่ดี ซึ่งมีองค์ประกอบและมีกรอบการวัดความน่าเชื่อถือของประเทศในหลายมิติ และในหลายมุมมอง โดยมีรายละเอียดต่างๆ ในแต่ละองค์ประกอบมากมาย ซึ่งผมจะขอขยายความที่จะกล่าวในตอนต่อๆ ไป นะครับ

ในตอนที่ 8 นี้ ผมขอกล่าวสั้นๆ ว่า บริบทสากลหรือบริบทโลกที่มุ่งสร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีมีศักยภาพในการแข่งขันที่ดี มีเศรษฐกิจที่ดี มีปัจจัยการลงทุนต่างๆ ที่ดี มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการศึกษาที่ดี +++ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Thanland 4.0 นั้น ควรจะมีกรอบการกำกับทางด้านธรรมาภิบาลที่ดี ที่มีหลักการและบริบทของโลกที่ครอบคลุมในเรื่องต่างๆ ที่ผู้บริหารประเทศควรคำนึงถึงก็คือ

  1. การแยกการกำกับออกจากการบริหาร
  2. การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างคุณค่าเพิ่มจากความไว้วางใจ โดยกำหนดผลประโยชน์ที่ผู้มีส่วนได้เสียจะได้รับ ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความเสี่ยงที่เหมาะสมของประเทศ และของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งจัดให้มีการใช้ทรัพยกรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการกำหนดเป้าหมายระดับประเทศที่ชัดเจน ไม่กำกวม และเชื่อมโยงเป้าหมายดังกล่าวกับเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายทางด้านไอที จากนั้นก็เชื่อมโยงไปยังเป้าหมายของปัจจัยเอื้อที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะได้กล่าวอย่างละเอียดต่อไป
  3. มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน และกำหนดความสัมพันธ์ของแต่ละหน้าที่นั้น อย่างไม่กำกวม ครอบคลุมทั่วทั้งโครงสร้างของการกำกับ ในการบริหารจัดการไอทีทั้งประเทศ
  4. จัดให้มีการประยุกต์ใช้กรอบการดำเนินงานที่บูรณาการเป็นหนึ่งเดียว นั่นคือ ใช้บริบทการกำกับที่เป็นสากลของการจัดการของประเทศ ภายใต้หลักการ ธรรมาภิบาลทางด้านไอที เพื่อประเทศที่ดีที่ต้องการความเข้าใจอย่างแท้จริงของผู้นำ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
  5. จัดให้มีวิธีปฏิบัติแบบองค์รวม สัมฤทธิ์ผล  หัวข้อนี้สำคัญมาก เพราะจะเกี่ยวข้องกับ

5.1 หลักการ นโยบายและกรอบการดำเนินงานของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่คาดหวังให้เป็นแนวทางปฏิบัติได้จริง สำหรับการกำกับและการบริหารจัดการประจำวัน

5.2 มีกระบวนการบริหารที่เชื่อมโยงกับข้อ 5.1 ภายใต้กรอบการกำกับดูแลระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับไอทีโดยรวม

5.3 มีโครงสร้างในกรอบงานภาครัฐที่เชื่อมโยงกับการกำกับงานของผู้นำประเทศ ที่เชื่อมโยงกับกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ และต่อยอดไปยังหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างได้ดุลยภาพ

5.4 จัดให้มีวัฒนธรรม จริยธรรม และพฤติกรรมของประชาชน ที่เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จของกิจกรรมและการจัดการ

5.5 มีการบริหารทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งได้แก่

  • การจัดการสารสนเทศ และข้อมูลที่สามารถใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วทั้งประเทศ และถึงระดับประชาชน และสารสนเทศดังกล่าวต้องคำนึงถึงว่า เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งที่ต้องใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และระบบงาน (Application) ที่ใช้สำหรับการประมวลผล และบริการอื่นๆ ด้านเทคโนโลยี ตามเป้าหมายของ Thailand 4.0 ที่ใช้บริบทสากล
  • จัดให้มีการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะและศักยภาพ เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับตัวบุคลากรที่จะช่วยให้ตัวกิจกรรมทั้งหมดสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และช่วยให้การตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

ขออภัยนะครับที่ ผมตั้งใจจะกล่าวสั้นๆ ในหลักการของความเชื่อกับการพัฒนาเติบโตอย่างยั่งยืนให้ประเทศไทยพ้นไปจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานปลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งแน่นอนว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบริบท แนวความคิดของผู้บริหารประเทศและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง และขออนุญาตเชื่อมโยงกับปาฐกถาพิเศษ ของท่านผู้ว่าการ ธปท. ท่านวิรไท สันติประภพ ที่พูด ในงาน Dinner Talk ในหัวข้อเรื่อง “Board of Directors and their Roles in Driving Thailand Forward” ที่ผมได้นำเสนอไปในตอนที่ 7 บ้างแล้ว เพราะผมคิดว่าข้อมูลที่ท่านผู้ว่าการฯ ได้พูดนั้น มีสาระที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และผมขอนำมาเสนอต่อในตอนนี้นะครับ

“ท่านผู้มีเกียรติครับ ถ้าเราหันมามองบริบทของเศรษฐกิจไทยบ้าง แม้ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคใหม่ และสภาวะ VUCA ในตลาดเงินและตลาดทุนโลกที่เคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น ยากที่จะคาดเดา ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยในภาพรวม สามารถเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ณ ขณะนี้ก็ชัดเจนมากขึ้น กระจายตัวมากขึ้น คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าที่ผ่านมา

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยสามารถทนทานความผันผวนและแรงปะทะได้ดีระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและภาคธุรกิจต้องปรับตัว ดำเนินการต่างๆ ด้วยความรอบคอบระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการจัดโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสม อัตราส่วนหนี้ต่อทุนของบริษัทจดทะเบียน ที่เคยสูงถึงประมาณ 5 เท่าในช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 ลดลงเหลือไม่ถึง 2 เท่าในปัจจุบัน ขณะที่เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคของไทย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ ฐานะทางการคลัง ตลอดจนฐานะด้านต่างประเทศก็อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ทั้งหมดนี้ทำหน้าที่เป็นเสมือน “กันชน” ที่ช่วยรองรับแรงปะทะและจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวและเติบโตได้ดีระดับหนึ่งท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยแม้ว่าเราจะมีกันชนที่ดีแต่กาลังเผชิญ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่สำคัญหลายเรื่อง ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข จะฉุดรั้งการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป รวมทั้งสร้างความเปราะบางและเป็น “ต้นทุนแฝง” ของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ การดูแลประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยฟื้น และปรับตัวได้ในระยะสั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เราต้องระวังไม่ให้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มาบดบังเรื่องสำคัญสาหรับในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อเราต้องเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกยุคใหม่ ซึ่งต่อจากนี้ไปจะมาเร็วขึ้น ผมเห็นว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจสังคมไทยมีอย่างน้อย 3 เรื่องด้วยกันที่จะขออนุญาตเรียนนำเสนอในคืนนี้

ปัญหาแรกคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งในมิติของรายได้และโอกาส แม้การพัฒนาประเทศของเราจะก้าวหน้าไปตามลำดับ แต่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำกลับไม่ดีขึ้น ตัวเลขสถิติหลายตัว สะท้อนว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เช่น

– กลุ่มคนรวยที่สุดร้อยละ 10 แรกของประเทศ มีรายได้มากกว่ากลุ่มคนที่จนที่สุดร้อยละ 10 สุดท้าย ถึง 22 เท่า

– ที่ดินทั่วประเทศกว่าร้อยละ 60 ถือครองโดยคนกลุ่มที่รวยที่สุดเพียงร้อยละ 10 แรก เท่านั้น

– คนน้อยกว่าร้อยละ 2 ของประเทศ เป็นเจ้าของมูลค่าเงินฝากในระบบถึงกว่าร้อยละ 80

นอกจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้หรือทรัพย์สินแล้ว ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในประเทศก็สูงขึ้นมากเช่นกัน คนที่มีฐานะความเป็นอยู่ด้อยที่สุดร้อยละ 10 ของประเทศ มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาตรี และ ปวส. เพียงประมาณร้อยละ 4 ของจำนวนคนในกลุ่มเท่านั้น สะท้อนว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ศึกษาต่อ และมีอัตราการ drop out สูงมาก นอกจากนี้ โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และโอกาสในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงบริบทของโลก มีจำกัดมากในสังคมไทย

ผมคิดว่าหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข และปล่อยให้เลวร้ายลงแล้ว จะยิ่งทำให้ปัญหาความแตกแยกในสังคม และการแบ่งขั้วทางความคิดรุนแรงขึ้น ดังที่เราเห็นบทเรียนหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

ปัญหาเชิงโครงสร้างปัญหาที่สองคือ ปัญหาศักยภาพการเติบโตที่ลดลง ท่านผู้มีเกียรติหลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าประเทศไทยได้ผ่านจุดสูงสุดของจำนวนประชากรในวัยทำงานมาแล้ว และในตอนนี้ประชาชนวัยทำงานจะลดลงทุกปี และอีกไม่ถึง 15 ปีประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ” คือ มีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 4 ในขณะที่อัตราการเกิดอยู่ในระดับต่ำ โครงสร้างประชากรเช่นนี้จะทำให้ศักยภาพการเติบโตของประเทศลดลงมาก และผลที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย จะไม่เกิดขึ้นในลักษณะเส้นตรง (linear) แต่จะเกิดขึ้นเร็ว เมื่อแต่ละภาคส่วนลุกขึ้นปรับตัว เตรียมพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุที่กาลังจะเกิดขึ้น

นอกจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ผมเชื่อว่าหลายท่านในห้องนี้เห็นตรงกันว่า ธุรกิจกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งด้านปริมาณและทักษะความชำนาญที่ตรงกับความต้องการ ตลาดแรงงานต้องการแรงงานที่มีทักษะและด้านวิชาชีพมากขึ้น แต่แรงงานส่วนใหญ่กลับเป็นบัณฑิตในระดับปริญญาจำนวนมาก ขาดทักษะวิชาชีพ ด้านภาษาและทักษะเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นทักษะที่จำเป็นในบริบทโลกยุคใหม่

ขณะเดียวกัน ปัญหาคุณภาพการศึกษา ที่ด้อยลง ยิ่งทำให้ปัญหานี้น่ากังวลมากขึ้น ผลการทดสอบนานาชาติชี้ว่าเด็กไทย มีทักษะการแก้ปัญหาขั้นสูงเพียงร้อยละ 2 ในขณะที่เด็กสิงคโปร์และเวียดนามมีทักษะนี้สูงถึงร้อยละ 35 และร้อยละ 12 ตามลาดับ นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่อยู่ในระดับสูงเป็นอีกหนึ่งปัญหาหนึ่งที่ฉุดรั้งศักยภาพคนไทยในระดับปัจเจก ข้อมูลในระดับจุลภาคที่เราทำการศึกษา พบว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้มากขึ้น และเป็นหนี้นานขึ้น คือ ระดับหนี้ไม่ได้ลดลงแม้ว่าจะเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ และแทบไม่น่าเชื่อว่า

ถ้าดูเฉพาะกลุ่มประชากรอายุ 30 ปี ซึ่งเป็นวัยสร้างฐานะสร้างครอบครัว ประมาณครึ่งหนึ่งมีหนี้ และคนที่มีหนี้ กว่า 1 ใน 5 มีหนี้ เป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน คนที่ตกอยู่ในภาวะ “หนี้ท่วม” เช่นนี้ ย่อมพะวักพะวน เครียด ขาดสมาธิในการทำงาน ยากที่จะทำงานได้เต็มศักยภาพ หรือ ยกระดับศักยภาพของตนเองได้

ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) เป็นอีกปัญหาสำคัญที่จะมีผลไปสู่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ งานศึกษาของ OECD ทั่วโลกชี้ว่า บริษัทขนาดใหญ่มีผลิตภาพ (productivity) โดยรวมสูงกว่าบริษัททั่วไปขนาดกลางและขนาดเล็ก เฉลี่ย 4-5 เท่า และมี ผลิตภาพ (productivity) ของแรงงานสูงกว่าถึง 10 เท่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้สะท้อนว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะเผชิญปัญหา ไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพได้ทันบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งโลก

หากดูข้อมูล NPL ที่แยกตามขนาดของธุรกิจในประเทศไทย เราจะเห็นการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ในหลายภาคธุรกิจ อาทิเช่น ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัด ธุรกิจก่อสร้าง และการค้าส่งและปลีก ในภาคธุรกิจเหล่านี้เราเห็น NPL ของธุรกิจขนาดใหญ่มีแนวโน้มลดลง สวนทางกับ NPL ของ SMEs ที่โน้มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะ SMEs มีสายป่านสั้น ทำให้แข่งไม่ได้ในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำมาเป็นเวลานาน แต่อีกส่วนเชื่อว่า เป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้ SMEs โดยเฉพาะ SMEs ในต่างจังหวัด ไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่จากส่วนกลางที่มีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นในด้านผลิตภาพ เทคโนโลยีที่สูงกว่า หรือเครือข่ายการทำธุรกิจที่กว้างกว่า

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ การยกระดับศักยภาพของ SMEs เป็นเรื่องที่ต้องทำจริงจังและทำอย่างรอบด้าน ที่ผ่านมาเราอาจจะให้น้ำหนักกับเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อมาก เพราะการเข้าถึงสินเชื่อหรือตัวเลขภาคการเงินเห็นได้ง่าย เป็นกระจกเงาที่สะท้อนปัญหาการทำธุรกิจของ SMEs แต่การเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ผมคิดว่าไม่ใช่ประเด็นหลักที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพ และลดความเสี่ยงของการทำธุรกิจ SMEs ในระยะยาว ข้อมูลจากระบบการเงินพบว่าในเวลานี้ SMEs จำนวนไม่น้อยมีวงเงินสินเชื่อเหลือ อัตราการใช้สินเชื่อลดลงในช่วงที่ผ่านมาเหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของวงเงินที่มี รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ SMEs ที่มีศักยภาพได้รับก็อยู่ในระดับต่ำลงกว่าเดิมมาก ผมคิดว่า SMEs ต้องการการสนับสนุนด้านความคิด การบริหารจัดการ เครือข่ายการทางาน เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนศักยภาพ SMEs ให้สูงขึ้น ถ้าหากไม่ได้รับการดูแลแล้ว จะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจฐานรากจะเปราะบาง และย้อนมาเป็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

ปัญหาที่สามคือ ปัญหาคุณภาพขององค์กรภาครัฐ แม้ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามปรับปรุงการบริหารงานและการบริการในหลายด้าน แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณภาพและประสิทธิภาพขององค์กรภาครัฐหลายเรื่อง ต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น อาทิ ปัญหาคอร์รัปชันที่ยังเป็นปัญหารุนแรง ดัชนีการจัดอันดับความโปร่งใส (Corruption Perceptions Index) ปี 2559 ของไทยอยู่อันดับที่ 1017 จาก 176 ประเทศ เราทุกคนตระหนักดีว่า ไม่มีธุรกิจไหนที่เก่งและดี อยากทำธุรกิจในสังคมที่มีการคอร์รัปชันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะจะต้องเผชิญแต่ความไม่แน่นอน ไร้กฎเกณฑ์ และมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ จนเป็น “ต้นทุนแฝง” ที่ไม่สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ

อีกปัญหาสำคัญขององค์กรภาครัฐคือ กฎหมายและกฎระเบียบจำนวนมากไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย หลายท่านอาจจะไม่เชื่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมกันมากกว่า 1 แสนฉบับ และ มีใบอนุญาต มากกว่า 3,000 ประเภท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการปรับปรุงมานาน และจำเป็นต้องได้รับการทบทวนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายและกฎระเบียบจำนวนมากเหล่านี้ นอกจากจะเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจ นำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชันแล้ว ยังทำให้การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ และที่สำคัญเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม เพราะกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เขียนขึ้นตามบริบทของโลกเดิม วิธีปฏิบัติแบบเดิม ไม่เอื้อต่อการทำงานในบริบทของโลกใหม่ ที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

ผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ องค์กร ประเมินว่า กฎระเบียบจำนวนมากนี้ก่อให้เกิดต้นทุนประมาณร้อยละ 10-20 ของ GDP และส่งผลต่อความยากง่ายในการทำธุรกิจ (ease of doing business) รวมทั้ง ความน่าลงทุนและความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม หลายประเทศที่ปฏิรูปกฎหมายอย่างจริงจังได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และต้นทุนการทำธุรกิจลดลง

ท่านผู้มีเกียรติหลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า ในปี 2551 เกาหลีใต้มีอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจอยู่ที่อันดับ 23 ต่ำกว่าไทย ซึ่งอยู่ที่อันดับ 13 ขณะที่ ในปีที่แล้วอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของไทยตกไปอยู่อันดับที่ 46 ขณะที่เกาหลีใต้อยู่อันดับ 5 สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คงเป็นเพราะเกาหลีใต้ปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอย่างจริงจัง”

ปัญหาและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ท่านผู้ว่าฯ ได้กล่าวถึง ยังมีอีกหลายมุมมองหลายมิติ ที่มิได้จบเพียงเท่านี้ ยังมีการปรับตัว การเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการก้าวไปสู่โลกยุคใหม่ที่ต้องติดตามในตอนต่อไปครับ


ความเชื่อ กับ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development ตอนที่ 7

พฤษภาคม 31, 2017

ผลกระทบต่อความเชื่อ ต่อการไม่ตอบสนองความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วม

ในตอนที่ 6 ซึ่งผมได้เขียนในหัวข้อ การตอบสนองต่อความต้องการของ Stakeholders กับ Thailand 4.0 และลงท้ายก่อนจะจบว่า ผมจะขออธิบายในหัวข้อของความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับ การกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือการกำกับการบริหารประเทศที่ดี ตามหลักการของ GEIT – Governance Enterprise of IT เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า หากผู้นำขององค์กร หรือผู้นำของประเทศ มีความเข้าใจที่นำไปสู่การปฏิบัติที่มีผลต่อผู้มีผลประโยชน์ร่วม (Stakeholders) อย่างไม่ได้ดุลยภาพ หรือไม่พอเพียง ภายใต้กรอบและหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร หรือของประเทศ และไม่สามารถบูรณาการ ภายใต้หลักการที่ดีดังกล่าว จะมีผลสำคัญต่อความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่น ต่อองค์กรหรือต่อประเทศ นั้น จะมีผลร้ายแรงอย่างไร หรือมีผลกระทบอย่างไร ต่อต้นทุนการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรหรือของประเทศ

ผมขออนุญาตท่านผู้อ่าน ที่ในตอนที่ 6 ผมได้ลงท้ายว่าจะอธิบายหลักการของ GEIT- Governance Enterorise of IT ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการบริหารระดับประเทศได้เป็นอย่างดีและมีประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการสร้าง “ความเชื่อ” ที่ดี ที่มีผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนา ของทั้งในระดับองค์กรและระดับต่างประเทศ โดยใช้บริบทของโลก และสากลมาเป็นตัวตั้งต้น เพื่อลดต้นทุนแฝง ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาระยะสั้น การวางกลยุทธ์ที่ไม่ได้คำนึงถึงบริบทสากล / บริบทโลก มาพิจารณา…และเพื่อให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางด้วยครับ

เมื่อคืนวันอังคารที่ 29 พฤษภาคม 2560 ผมได้ฟัง ท่านผู้ว่าการ ธปท. ท่านวิรไท สันติประภพ พูด ในงาน Dinner Talk

ที่โรงแรม Grand Hyatt Erawan จัดโดยสถาบันพัฒนากรรมการไทย – IOD เรื่อง “Board of Directors and their Roles in Driving Thailand Forward” ที่มีสาระน่าสนใจยิ่ง และในมุมมองของผม หัวข้อและสาระนี้ สามารถนำมาใช้ประยุกต์ในการสร้างความเข้าใจ เพื่อการพัฒนาความเชื่อและสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน ให้กับผู้บริหาร คณะกรรมการ และผู้นำขององค์กร และผู้นำของประเทศได้ดีมากครับ โดยเฉพาะในมิติของการสร้างกลยุทธ์ขององค์กรและของประเทศ

ผมจึงขออนุญาต นำหัวข้อนี้ มาเผยแพร่ต่อ เพราะเห็นประโยชน์จากสาระการพูดของ ท่านผู้ว่าการ ธปท. เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับประเทศ ในมุมมอง การสร้างความเชื่อมั่นกับการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ในอีกมิติหนึ่่งที่น่าสนใจยิ่ง ดังต่อไปนี้ครับ

ผมขอขอบคุณสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เป็นอย่างยิ่ง ที่ให้เกียรติเชิญผมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในการประชุมใหญ่สามัญประจาปีนี้ ถ้าเรามองย้อนกลับไป ตั้งแต่ที่ IOD เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2542 ผมเชื่อว่าทุกท่านคงเห็นด้วยกับผมว่า IOD ได้สร้างคุณูปการให้แก่ภาคธุรกิจไทยและเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาความเป็น “มืออาชีพ” ของคณะกรรมการ และการส่งเสริมให้เกิด  “จริยธรรมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี”  ในภาคธุรกิจ ได้กลายเป็นต้นแบบในการวัดจริยธรรมและการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้กับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมไทยอีกด้วย

ท่านผู้มีเกียรติหลายท่านในที่นี้ คงจำบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่สถาบันการเงิน และบริษัทหลายแห่งต้องปิดตัวลง เหตุการณ์ในครั้งนั้น ได้ทำให้ภาคเอกชนตระหนักถึงความจำเป็นใน “การยกระดับบรรษัทภิบาล หรือธรรมาภิบาล” ให้ดีขึ้น ผลจากการร่วมแรงร่วมใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น IOD ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หน่วยงานกำกับดูแล สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และที่สาคัญ ตัวบริษัท และคณะกรรมการของบริษัทเอง ได้ส่งผลให้ ระดับธรรมาภิบาลของธุรกิจไทยพัฒนาขึ้นมาก

วันนี้ระดับธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนไทย เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในปี 2559 Asian Corporate Governance Association ได้ประกาศให้ไทยอยู่อันดับ 21 ของภูมิภาค ASEAN ในเรื่องมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีบริษัทจดทะเบียนไทยเป็นสมาชิก DJSI ถึง 14 บริษัท มากที่สุดในอาเซียน2 อันเป็นตัวอย่างความก้าวหน้าในมุมของ “ธรรมาภิบาล”

ถ้าเรามองไปข้างหน้าแล้ว ปัญหาที่ภาคธุรกิจไทย เศรษฐกิจไทย และสังคมไทยจะต้องเผชิญ จะต่างไปจากเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาก และปัญหาที่เราต้องเผชิญจะซับซ้อนมากขึ้นมากด้วย ปัญหาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบที่ผลประโยชน์กระจุกตัว ละเลยปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่หันมาทบทวนแนวทางในการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” (sustainability) อาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง “ธรรมาภิบาล” (governance) เป็นเพียง “เงื่อนไขที่จำเป็น” ต่อการสร้างความยั่งยืน “แต่ไม่เพียงพอ” เพราะการขับเคลื่อนการพัฒนาให้ยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม ต้องอาศัยการสร้างสมดุลระหว่างมิติทางเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า บริบทของโลกที่เราอยู่จะมีลักษณะที่เรียกกันว่าเป็น VUCA มากขึ้น ผันผวน (Volatile) ไม่แน่นอน (Uncertain) ซับซ้อน (Complex) และยากจะคาดเดา (Ambiguous) เราจะต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่ๆ ภายในประเทศที่มีอยู่ไม่น้อยด้วย นับเป็น “โจทย์ท้าทาย” ที่ทุกภาคส่วนต้องมาร่วมกันขบคิดว่า จะร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยในระยะต่อไปอย่างไร ด้วยวิธีใด ซึ่งผมคิดว่า ภาคธุรกิจ ธุรกิจขนาดใหญ่ และบทบาทของ “คณะกรรมการบริษัท” จะเป็นกำลังสาคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศ ในวันนี้ผมจะขอแบ่งการนำเสนอความคิดเห็นออกเป็นเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 บริบทโลกและปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราเผชิญอยู่ในประเทศไทย
ส่วนที่ 2 ความสาคัญของภาคธุรกิจและบทบาทของคณะกรรมการบริษัทในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ ผมขอเริ่มจากบริบทของโลก เมื่อเดือนที่ผ่านมาในการประชุม Spring Meeting ของ IMF ประเมินว่า ภาพรวม “เศรษฐกิจโลก” มีแนวโน้ม “ฟื้นตัว” ชัดเจนขึ้น และในการประชุมเมื่อเดือนที่แล้วเป็น “ครั้งแรก” ในรอบ 6 ปีที่ IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรมหลัก และการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ IMF คาดว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งมากกว่าปีก่อนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะมีทิศทางดีขึ้น แต่ความเสี่ยงก็ปรับเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ ความเสี่ยงที่สหรัฐอเมริกา อาจจะดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสถานะทางการเมืองของประธานาธิบดี Trump ที่จำเป็นต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสาคัญๆ โดยเฉพาะนโยบายปฏิรูปภาษี และนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทยอยปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ระดับปกติ (Monetary Policy Normalization) ซึ่งอาจจะทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมในตลาดการเงินโลกปรับสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ถ้าเรามองไปในทวีปยุโรป ความเสี่ยงก็มีอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) รวมทั้งการเมืองในยุโรป ถึงแม้ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะช่วยคลายกังวลได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เมื่อมองเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย พบว่า มีความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้เสียในภาคการเงินของจีน และระดับการก่อหนี้ของภาคธุรกิจจีน ซึ่งอยู่ในระดับสูงมาก การปรับตัวของเศรษฐกิจจีน จะมีนัยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ในภูมิภาคของเรายังต้องเผชิญปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ในทะเลจีนใต้ และความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ตลาดเงิน ตลาดทุนโลกผันผวนได้สูงมากเป็นช่วงๆ

นอกจากเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงในระยะข้างหน้าแล้ว บริบทของโลกที่เราอยู่จะต่างไปจากเดิมมาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดจะเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ และเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ของคนในสังคม ในวันนี้ เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงิน ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ในเสี้ยววินาที หลายบริษัทกำลังแข่งขันกันพัฒนารถที่ไม่ต้องใช้น้ามัน และรถที่สามารถขับเคลื่อนไปได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคนขับ โลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Cyber Attack” ซึ่งสามารถสร้างความปั่นป่วน ด้วย “การเรียกค่าไถ่” ได้พร้อมกันทั่วโลกในชั่วข้ามคืน หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อสายการบินใหญ่ของโลกต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด เพราะระบบคอมพิวเตอร์มีปัญหา ส่งผลกระทบต่อการเดินทางทางอากาศทั่วโลก เราชะล่าใจไม่ได้นะครับ อีกไม่กี่ปีเราอาจจะเห็นการตั้ง “Artificial Intelligence” หรือ AI เป็น “คณะกรรมการบริษัท” ก็ได้ เพราะเชื่อว่าจะทำหน้าที่ได้ดีกว่า “คน” ในหลายมิติ ซึ่งในหลายแห่งกำลังทดลองอยู่

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดก็เหมือน “เหรียญสองด้าน” ด้านหนึ่งก็เป็น “โอกาส” กล่าวคือ จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเราในหลายเรื่องได้อย่างก้าวกระโดดเช่นเดียวกัน ช่วยให้เราทำงานได้ด้วยประสิทธิภาพสูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการแพทย์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอาหาร

แต่เหรียญอีกด้านก็นำมาซึ่ง “ความท้าทาย” เช่น จะส่งผลให้ตำแหน่งงานหลายอย่างหายไป ทุกธุรกิจต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในวันนี้ Internet Banking จะเข้ามาทดแทนบทบาทสาขาของธนาคารพาณิชย์ e-commerce เข้ามาทดแทนศูนย์การค้า Digital media เข้ามาทดแทนสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ การเปลี่ยนแปลงที่เรากำลังเผชิญอยู่เวลานี้ เป็นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ผมเชื่อว่าเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงใน speed ที่เร็วขึ้น และรุนแรงมากในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ความไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ และไม่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้ โลกที่เราอยู่ก็ซับซ้อนมากขึ้น เราเห็นความเชื่อมโยงกันมากขึ้นของมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ จนทำให้พรมแดนของประเทศในหลายๆ มิติหายไป เมื่อผนวกกับพลังของ Social Media ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Butterfly Effect” ได้ง่ายขึ้น และเร็วขึ้น เหตุการณ์เล็กๆ เหตุการณ์หนึ่งสามารถกระจายการรับรู้ไปทั่วโลกในเสี้ยววินาที และสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมูลค่าของธุรกิจ วิธีการทำธุรกิจ และนโยบายของภาครัฐและภาคธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่ผมเชื่อว่าหลายท่านคงจำได้ คือ ภาพเหตุการณ์ผู้โดยสารคนหนึ่งถูกฉุดลากลงจากเครื่องบินเมื่อไม่นานนี้

ท่านผู้ว่าการ ธปท. ยังได้กล่าวถึง บริบทของเศรษฐกิจไทย ที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคใหม่ได้อย่างน่าสนใจ และเป็นที่น่าจับตาดู ซึ่งผมขอตัดตอนเพื่อนำเสนอเป็นตอนต่อไป โปรดติดตามนะครับ


ความเชื่อ กับ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development ตอนที่ 6

เมษายน 19, 2017

การตอบสนองต่อความต้องการของ Stakeholders กับ Thailand 4.0

ทุกองค์กร รวมทั้งในระดับประเทศ มีปัจจัยในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียที่แตกต่างกัน เช่น ด้านภูมิศาสตร์ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านการตลาด ด้านการลงทุน ด้านวิสัยทัศน์ ด้านพันธกิจ ด้านวัฒนธรรม ด้านความคิดในการพัฒนา ด้านการวางแผนการจัดการในการกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม รวมทั้งการดำเนินการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับความเสี่ยง และอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องมีระบบการกำกับดูแล และการบริหารจัดการที่ควรปรับแต่งให้เหมาะสม ให้เหมาะกับองค์กรที่ควรจะสัมพันธ์กับ การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ และนโยบายระดับประเทศ ด้วย

จะเกิดอะไรขึ้น หากนโยบายการพัฒนาประเทศของไทยเรา ที่เรียกกันง่ายๆ ในการกำหนดทิศทางของประเทศทางด้านเศรษฐกิจการเงิน การลงทุน และการพัฒนาอื่นๆ ในหลายมิติ ที่จะถูกผลักดันโดยใช้นโยบาย Thailand 4.0 นั้น จะประสบความสำเร็จได้โดยปราศจาก การพิจารณาหลักการข้อที่ 1  คือการสร้างคุณค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือ Thailand 4.0 นั้น โดยไม่คำนึงถึงการตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ เพราะกลยุทธ์ระดับประเทศ รวมทั้งกลยุทธ์ระดับองค์กร หากมีความเข้าใจในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียแตกต่างกันแล้ว จะมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างน้อย จะมีผลกระทบทางลบต่อวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย กลยุทธ์ และแนวการปฏิบัติ เป็นลูกโซ่ ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่รัฐออกคำสั่งเป็นทางการ ห้ามผู้โดยสารนั่งรถกระบะในส่วนที่เป็น cab และกระบะหลังตอนหลัง เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่ดี แต่คำสั่งนี้ไม่ได้คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ของผู้ใช้รถกระบะ ผลก็คือ คำสั่งนี้ได้รับการต่อต้านอย่างมาก และในที่สุดก็ต้องผ่อนปรน โดยยืดการกำหนดบังคับออกไปจนถึงสิ้นปี 2560  ซึ่งเป็นตัวอย่างพื้นฐานง่ายๆ นั้น จะทำให้ประกาศ คำสั่ง ซึ่งรวมถึงกฎหมาย กฎเกณฑ์ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่จะออกใหม่ในอนาคต ที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียอย่างได้ดุลยภาพ จะมีปัญหาในทางปฏิบัติ และอาจต้องมีการทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

ขอยกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีกตัวอย่างหนึ่งนะครับ กรณีที่รัฐยกเลิกสัมปทานเหมือนแร่ทองคำของชาวต่างชาติ เพราะราษฎรร้องเรียนเรื่องมลภาวะ ในแถบที่มีการขุดเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของราษฎร เป็นการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีประโยชน์ เพราะราษฎรที่ร้องเรียนนั้นได้รับความพอใจอย่างยิ่ง แต่ผู้ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งบางสัญญาก็หมดอายุ และบางสัญญาก็ยังไม่หมดอายุนั้น มีผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงต่อผู้มีส่วนได้เสียอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ นักลงทุน ผู้ได้รับสัมปทานลงทุนในเหมืองแร่ทองคำนั้น ซึ่งปัจจุบันทราบว่า ผู้ได้รับสัมปทานยื่นฟ้องต่อทางการแล้วในการเรียกร้องความเสียหาย นี่ก็เป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้อีกประการหนึ่งว่า การที่ประเทศ/องค์กร จะได้รับประโยชน์จากนโยบายต่างๆ รวมทั้งนโยบาย Thailand 4.0 ทางผู้กำกับ โดยรัฐ หรือหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้อง ควรคำนึงถึงการได้รับผลประโยชน์โดยการบริหารความเสี่ยงที่่เหมาะสม และการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดของชาติ/ขององค์กรนั้น เป็นเรื่องของการสร้างคุณค่าเพิ่ม เป็นเรื่องของการสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ในการกำกับการดูแลและการบริหารจัดการที่ดี ที่ต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ และได้ดุลยภาพอย่างแท้จริง มิฉะนั้น จะมีผลทางลบต่อความน่าเชื่อถือระดับประเทศ และระดับองค์กรได้ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่เป็นเป้าหมายหลักของประเทศและทุกองค์กร

ถึงช่วงนี้ผู้อ่านคงเห็นด้วยกับผมนะครับว่า กฎหมาย กฎเกณฑ์ ประกาศ คำสั่ง ที่มาจากกฎหมาย นโยบาย และกลยุทธ์ต่างๆ นั้น จะต้องคำนึงถึงหลักการของการกำกับดูแลกิจการที่ดียุคไอที หรือยุค Thailand 4.0 ของประเทศนั้น จะต้องยึดหลักการข้อแรกคือ การตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียอย่างได้ดุลยภาพ

Image Source: คณะทำงานเพื่อสร้างความตระหนักและการรับรู้เพื่อส่งเสริมรัฐวิสาหกิจเริ่มต้น กระทรวงพาณิชย์

ความเข้าใจ ความหมายของ การกำกับดูแล (Governance) และการบริหารจัดการ (Management) ยุค Thailand 4.0

แนวทางการพัฒนาประเทศโดยใช้นโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเป็นที่เข้าใจตรงกันแล้วว่า เป็นการผลักดันและสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับ เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งประชาชนทั่วประเทศทุกภาคส่วน นั้น หากความเข้าใจในเรื่องความหมายของการกำกับดูแลที่ดี หรือ Governance จะมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อกระบวนการขับเคลื่อน IT ระดับประเทศ และ IT ระดับองค์กร ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสำเร็จในกระบวนการกำกับและการบริหาร อย่างแยกกันไม่ได้ในทุกระดับของกระบวนการกำกับและการจัดการ

เราจึงมาลองทบทวนดูกันสักนิดนะครับว่า ความหมายและความสำคัญของการกำกับดูแล และการบริหารจัดการ IT ระดับประเทศและระดับองค์กรในยุค Thailand 4.0 น่าจะมีความหมายเป็นอย่างไรกันครับ

การกำกับดูแล (Governance) หมายถึง “การทำให้มั่นใจว่า ความต้องการ เงื่อนไข และทางเลือกของผู้มีส่วนได้เสีย ได้รับการประเมิน เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ ที่ประเทศและองค์กรต้องการ ให้บรรลุซึ่งการมีความสมดุลและเห็นชอบร่วมมกัน โดยมีการกำหนดทิศทาง ผ่านการจัดลำดับความสำคัญและการตัดสินใจ และการเฝ้าติดตามผล การดำเนินงาน และการปฏิบัติตามให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับทิศทางและวัตถุประสงค์ที่ได้ตกลงร่วมกัน”

ความแตกต่างระหว่าง Governance และ GEIT

ถ้าเราเข้าใจตรงกันว่า ความหมายของการกำกับดูแลเป็นดังเช่นที่กล่าวข้างต้น ผู้กำกับและผู้ที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่า รวมทั้งผู้บริหาร และระดับปฏิบัติงาน ควรจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามหลักการระดับรองลงไปของ Governance of Enterpirse IT – GEIT ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง Corporate Governance และ IT Governance อย่างไร้รอยต่อนั้น ควรจะมีกรอบการดำเนินงานอย่างไร ก็มีเรื่องที่จะคุยกันต่อไปนะครับ

การบริหารจัดการ (Management)

ผู้บริหาร มีหน้าที่และความรับผิดชอบใน “การวางแผน การสร้างกระบวนการดำเนินงาน และเฝ้าติดตามกิจกรรมต่างๆ  ให้สอดคล้องกับทิศทางที่กำหนด โดยหน่วยงานกำกับดูแล (Governance body) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในระดับประเทศ และในระดับองค์กรในส่วนที่เกี่ยวข้อง”

กรอบการดำเนิงานตามนโยบาย Thailand 4.0 สำหรับการกำกับดูแล และการบริหารจัดการไอที ระดับประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า จะเกี่ยวข้องกับ IT ระดับองค์กรด้วยนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่สำคัญ 5 ประการ

หลักการข้อแรก ตามที่ผมได้กล่าวเป็นหัวข้อไว้แล้วก็คือ การตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย นอกจากนี้ ยังจะต้องปฏิบัติตามหลักการข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ต่อไปคือ

หลักการข้อสอง ได้แก่ การพิจารณา การกำกับดูแล และการบริหารจัดการ ปัจจัยเอื้อที่เกี่ยวข้องกับ IT ให้ครอบคลุมทุกหน้าที่งาน และกระบวนการภายในองค์กรอย่างครบวงจร

หลักการข้อสาม ได้แก่ การประยุกต์ใช้กรอบการดำเนินงานที่บรูณาการเป็นหนึ่งเดียว นั่นคือ การมีมาตรฐานและมีแนวปฏิบัติที่ดี ที่เกี่ยวข้องกับ IT และกรอบมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง มาใช้สอดคล้องกันในภาพรวม เพื่อการกำกับ ดูแล และการบริหารจัดการ IT ในระดับประเทศและในระดับองค์กร

หลักการข้อสี่ นำวิธีปฏิบัติแบบองค์รวม หรือปัจจัยเอื้อที่ช่วยในการบรรลุวัตถุประสงค์ของประเทศและองค์กร ในการกำกับและดูแลการบริหาร IT ซึ่งปัจจัยเอื้อดังกล่าว ได้แก่

  • กำหนดหลักการ นโยบาย และกรอบการดำเนินงาน
  • การกำหนดกระบวนการ เพื่อตอบสนองต่อหลักการและปัจจัยเอื้ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • การกำหนดโครงสร้างของการจัดการ IT ระดับประเทศ เพื่อตอบสนองต่อผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจาก Thailand 4.0
  • การกำหนดสารสนเทศ ที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการดำเนินงานและการตัดสินใจ
  • การจัดให้มีบริการ โครงสร้างพื้นฐาน และระบบงาน
  • การพัฒนาบุคลากร ทักษะ และศักยภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยเอื้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามที่กล่าวข้างต้น

หลักการข้อห้า ในการกำกับ ดูแล และการบริหารจัดการ IT คือ แบ่งแยกการกำกับดูแล ออกจากการบริหารการจัดการ

หลักการกำกับดูแลและการบริหารจัดการ IT ระดับประเทศ และระดับองค์กร โดยย่อ ตามที่กล่าวแล้วนั้น ผู้รับผิดชอบและผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในมุมมองของผู้กำกับ ผู้ถูกกำกับ ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน ในระดับประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องส่งสัญญาณจากหน่วยงานกำกับ (Governance body) ระดับประเทศ ควรจะส่งนสัญญาณที่เป็นหลักการดังกล่าวข้างต้น มาใช้ในหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติ ที่ควรมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อหลักการดังกล่าวอย่างบูรณาการ เพื่อการกำกับในการบริหารจัดการ Thailand 4.0 ตามนโยบายและกลยุทธ์ของรัฐบาล มิฉะนั้น จะมีปัญหาต่อความยั่งยืนในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม เพื่อพาประเทศไทยก้าวพ้นกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เพราะการสร้างคุณค่าเพิ่มของประเทศ ยังไม่มีมากพอ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศ ตามมาตรฐานสากล

ดังนั้น ความเชื่อต่อการพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 จะสัมฤทธิ์ผลเพียงใดนั้น จึงขึ้นกับกรอบความคิดของกระบวนการกำกับและการบริหาร ยุค Thailand 4.0 ขององค์กรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องตามที่กล่าว ซึ่งเป็นก้าวแรกของการพัฒนาประเทศเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

Image Source: Royal Thai Embassy, Washington D.C.

GEIT เป็นส่วนสำคัญยิ่งของ Enterprise Governance

Governance of Enterprise IT – GEIT มีขึ้นเพื่อสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสีย โดยมีกรอบการดำเนินงานทางธุรกิจสำหรับการกำกับดูแล และการบริหารจัดการ IT ได้ทั้งระดับประเทศ และระดับองค์กร โดยมีหลักการ 5 ข้อ ตามที่กล่าววรรคต้นแล้ว ซึ่งวันนี้ ผมได้ย้ำถึงหลักการตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างคุณค่าเพิ่ม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การสร้างคุณค่าเพิ่ม ก็คือ Governance นั่นเอง เพราะการสร้างคุณค่าเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการกำกับดูแล ซึ่งครอบคลุมถึง การที่ประเทศชาติและองค์กรจะได้รับผลประโยชน์ด้วยต้นทุนที่ใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์สูงสุด และมีความเสี่ยงที่เหมาะสมที่สุด

เมือพูดถึง GEIT ควรเข้าใจตรงกันว่า เป็นกรอบการดำเนินงาน ที่สำคัญที่ควรจะมีความเข้าใจตรงกันทั้งในระดับประเทศและในระดับองค์กร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการผลักดัน การกำกับและการบริหารยุคใหม่ ที่ผสมผสานกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจ กับกระบวนการทางด้าน IT ให้เป็นหนึ่งเดียวโดยไร้รอยต่อ นั่นคือ เมื่อพูดถึงธุรกิจ ก็มีความหมายว่า กระบวนการทาง IT อยู่ภายใต้กรอบการดำเนินงานทางธุรกิจ และเมื่อพูดถึงในเรื่อง IT โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามนโยบาย Thailand 4.0 การกำกับดูแลและการบริหารจัดการทางด้าน IT ระดับประเทศและระดับองค์กร ก็มีเป้าหมายหลักที่เชื่อมต่อกับกระบวนการกำกับดูแลการบริหารจัดการ เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย จากการพลิกโฉมทางด้านเทคโนโลยี และการปฏิรูปกระบวนการกำกับและการบริหารจัดการ ให้เป็นหนึ่งเดียว โดยมุ่งประเด็นไปสู่กระบวนการพัฒนาสติปัญญา โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อนผลสัมฤทธิ์ในด้านต่างๆ ในการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับประเทศ โดยการลดต้ันทุนให้ต่ำลง ใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนผลประโยชน์ที่ต้องผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกันกับเป้าหมายของประเทศ/องค์กร

ผมเคยอธิบายในความหมายของคำว่า Integrated GRC (Governance + Risk Management + Compliance) แบบบูรณาการ โดยยกตัวอย่างบ่อยๆ ว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มนั้น หากขาดการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม และการควบคุมความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งดำเนินการตามมาตรฐานต่างๆ เพื่อการควบคุมความเสี่ยงที่ดี นั้น หากขาดความเข้าใจที่จะนำไปสู่การปฏิบัติแล้วละก็ การสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) ซึ่งหมายถึง การกำกับดูแลกิจการที่ดีจะเกิดขึ้นไม่ได้ และเปรียบเทียบว่า หาก Governance หมายถึง ซีเมนต์ ซึ่งประกอบด้วย หิน + ปูน + ทราย ผสมกัน… ถ้าเราเอาหิน ปูน ทราย ผสมกัน หากขาดน้ำก็จะไม่เป็นซีเมนต์ นั่นก็คือ ความเข้าใจเปรียบเสมือนน้ำ ที่ผสมเข้าไปในองค์ประกอบ 3 อย่างของการเป็นซีเมนต์ ก็คือ หิน + ปูน + ทราย … ดังนั้น การสร้างคุณค่าเพิ่มจากการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร หากขาดความเข้าใจในการบูรณาการในทางปฏิบัติของการเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่าง G + R + C / GRC

กลไกของ GEIT ได้ขยายความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สมชื่อของมันเองนั่นก็คือ Governance Enterprise of IT ในมุมมองที่ว่า Governance ขององค์กรจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดกระบวนการกำกับและการบริหาร IT ที่ดี ระดับประเทศและระดับองค์กร

ผมขอยกยอดการขยายคำอธิบายเรื่อง GEIT ที่เกี่ยวข้องกับกรอบการดำเนินงานทางด้าน Thailand 4.0 สำหรับการกำกับและการบริหารจัดการ IT ระดับประเทศ/องค์กร ไว้ในตอนต่อไปนะครับ

 

 

 

 


ความเชื่อ กับ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development ตอนที่ 5

มกราคม 26, 2017

ผลกระทบต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน หากผู้มีผลประโยชน์ร่วมขาดความเชื่อถือในระดับองค์กร และระดับประเทศ

จากทั้ง 4 ตอนที่ผมได้พูดถึงในเรื่องนี้ เป็นการเกริ่นนำให้ท่านผู้อ่านที่สนใจในกระบวนการกำกับ การบริหารเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วม/ผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่ต้องเกิดจากความเชื่อนั้น ในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อการสร้างคุณค่าเพิ่ม มีคำถามมากมายเพื่อให้มั่นใจว่า การสร้างความเชื่อในระดับองค์กรอาจไม่พอเพียง หากผู้มีส่วนได้เสียไม่เชื่อถือกระบวนกำกับดูแล และการบริหารจัดการระดับประเทศ ขาดกรอบการดำเนินงานที่ดี ภายใต้บรรทัดฐานสากล อันเป็นที่ยอมรับของนานาอารยะประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง การปฏิบัติตามสัญญา การปฏิบัติงานตามมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนด โดยมีหลักการ นโยบาย และกรอบการดำเนินงานที่เป็นกระบวนการ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างขององค์กรที่สัมพันธ์กับโครงสร้างของประเทศ ที่ประกอบไปด้วย การมีวัฒนธรรม จริยธรรม และพฤติกรรมในการที่จะปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย กลยุทธ์ ที่แผนงาน โครงการที่เป็นรูปธรรม ที่ต้องสัมพันธ์กับ การมีสารสนเทศที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือได้ มีบริการ โครงสร้างพื้นฐาน และระบบงานที่ดี และแน่นอนว่า องค์กรและประเทศต้องมีบุคลากรที่มีทักษะ และศักยภาพที่สามารถเอื้อให้วิธีปฏิบัติบรรลุผล สนองตอบความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย ภายใต้กรอบของหลักการ และนโยบาย ในระดับองค์กร และระดับประเทศ

digital-economy-and-sustainable-development

นี่คือ กรอบใหญ่ๆ ที่นำไปสู่การกำกับดูแลและการบริหารจัดการที่ดีในระดับองค์กร และในระดับประเทศ ซึ่งในยุคใหม่ ยุค IOT – Internet of Things คือมีอินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงกระบวนการสร้างคุณค่าเพิ่มที่มุ่งผลลัพธ์ไปยังเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นหลักใหญ่ นั้น กระบวนการดำเนินงานจะมีปัญหา หากไม่เกิดความเชื่อ ซึ่งอาจจะประเมินตนเองในระดับบุคลากร ในระดับองค์กร และในระดับประเทศได้ โดยการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบบางมิติดังต่อไปนี้ และขอให้ท่านผู้อ่าน ลองประเมินผลกระทบในภาพใหญ่ ในระดับประเทศ คือผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นเป้าหมายหลัก จากคำตอบที่น่าจะเป็นไปทางลบ และมีผลกระทบต่อ “ความเชื่อ” ที่มีผลต่อการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

  1.  ประเทศ/รัฐบาล มีวิสัยทัศน์ มีนโยบาย มีกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง การกำกับดูแล การบริหารที่นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างยั่งยืนหรือไม่
  2.  มีแนวทางที่เป็นกรอบ และมีหลักการที่สอดคล้องกับ หลักการสากลในระดับบน ถึงระดับปฏิบัติการ ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับหลักการสากลในเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือไม่
  3.  มีปัจจัยเอื้อที่ก่อให้เกิดความสำเร็จ ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย ตามวัตถุประสงค์ในการปกครอง ในการกำกับดูแล เพื่อการสร้างคุณาค่าเพิ่มในมิติของการได้รับผลประโยชน์ การริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่
  4. รัฐบาลและองค์กร มีหลักการปกครอบและบริหารครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ/องค์กร หรือไม่
  5. มีการประยุกต์ใช้กรอบการดำเนินงานที่บูรณาการเป็นหนึ่งเดียวกันหรือไม่
  6. มีการแบ่งแยกการกำกับดูแลออกจากการบริหารจัดการหรือไม่

คำถามในภาพกว้าง เพื่อประเมินตนเองในระดับรัฐบาล และในระดับองค์กรต่างๆ นั้น มีการเชื่อมโยงกับการกำกับดูแล และการบริหารจัดการไอที ในระดับองค์กร และแน่นอนว่าจะต้องเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการไอทีระดับประเทศด้วย ซึ่งผมยังไม่ขอกล่าวรายละเอียดในที่นี้ เราควรตั้งคำถามต่อไปให้เป็นคำถามย่อยๆ เพื่อให้แน่ใจถึงความสมเหตุสมผลในทางปฏิบัติว่า มีความขัดแย้งกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนเพียงใด บางประการที่มีผลกระทบต่อความน่าเชื่อของประเทศ/องค์กร ดังต่อไปนี้

  • ประเทศและองค์กรมีบุคลากรที่มีทักษะ และศักยภาพที่เหมาะสมและพอเพียงในการผลักดัน การกำกับดูแลเศรษฐกิจและสังคม และการบริหารการจัดการ ให้เป็นไปตามหลักการใหญ่ๆ ข้างต้น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และวัดผลได้อย่างแท้จริง
  • รัฐบาล/ทางการ มีการยกเลิกสัญญาที่กระทำไว้กับบริษัทเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทข้ามชาติ เพียงคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียเพียงมิติเดียว โดยไม่ถึงนึงถึงผลกระทบและผู้ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียในมิติอื่นๆ หรือไม่ เช่น โครงการจัดการน้ำ โครงการเหมือง ฯลฯ
  • การกำหนดเป้าหมายระดับประเทศ/องค์กร มีความสัมพันธ์กับการกำหนดเป้าหมายไอทีระดับประเทศ/องค์กร อย่างบูรณาการหรือไม่ (เพราะเรื่องทั้ง 2 เป็นเรื่องหลักการของการกำกับดูแลและการบริหารที่ดี ที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันของผู้มีส่วนได้เสีย)
  • ประเทศ/องค์กร มีกรอบที่ครอบคลุมการบริหารทั่วทั้งประเทศ/องค์กร (end to end) ที่เป็นรูปธรรมในการระบุบทบาทหน้าที่ กิจกรรม และความสัมพันธ์ของผู้ัมีส่วนได้เสีย ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล ในการกำหนดทิศทางผู้บริหารที่มีการสั่งการ และวางแนวทาง การดำเนินงาน และการปฏิบัติตามคำสั่ง ตลอดจนการทำรายงานย้อนกลับมายังผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่
  • ประเทศ/องค์กร มีความเข้าใจถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย ที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการดำรงอยู่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่สามารถวัดการดำรงอยู่ได้ เป็นกลยุทธ์ต้นๆ ที่ไม่ได้มีเพียงแค่มุมมองทางด้านสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จในระยะยาว ที่ควรจะมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์ที่สำคัญในประเด็นต่อไปนี้หรือไม่ เช่น

–  การตอบสนองอย่างฉับไวต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม

–  การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานหรือ การปฏิบัติที่ดีที่เป็นสากล และข้อตกลงบริการจากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง

–  คุณค่าจากการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของผู้มีส่วนได้เสีย

–  วัฒนธรรมที่ส่งเสริมนวัตกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการ และการดำเนินงาน

–  บุคลากรที่มีทักษะและแรงจูงใจที่ตระหนักว่า ความสำเร็จของประเทศที่มุ่งไปยังเศรษฐกิจและสังคม ที่มีผลต่อประชาชนส่วนใหญ่นั้น ขึ้นอยู่กับบุคลากรของประเทศ/องค์กร

  • เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับไอที หรือ ดิจิตอล มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสำเร็จในการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่ส่งผลลัพธ์สุดท้ายไปยังเศรษฐกิจและสังคม ต่อไปนี้ได้มีการพิจารณากันอย่างเหมาะสมเพียงใด

–  กลยุทธ์ทางด้านไอทีของประเทศ/องค์กร สอดคล้องไปในทางเดียวกับกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

–  การส่งมอบบริการทางด้านไอที เป็นไปตามความต้องการที่สนองตอบต่อการกำกับดูแลที่ดี ที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคม

–  ความเสี่ยง ที่มีผลกระทบต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เกี่ยวข้องกับไอที สามารถบริหารจัดการได้ดี เป็นไปตามกรอบมาตรฐานการกำกับและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง

–  ประเทศ/องค์กร มีความคล่องตัวทางด้านไอที ที่มีการกำหนดกรอบทางด้านนี้ไว้ชัดเจนแล้วว่าหมายถึงอะไร

–  ประเทศ/องค์กร มีความมั่นคงปลอดภัยของสารสนเทศ โครงสร้างพื้นฐานในการประเมินผล และระบบงานที่ดี

–  มีความพร้อมใช้ของสารสนเทศในระดับประเทศ/องค์กรที่เชื่อถือได้ และมีประโยชน์ในการตัดสินใจ

–  ประเทศ/องค์กร มีบุคคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถริเริ่มดำเนินการ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

การตรวจสอบความสมเหตุสมผลในการบรรลุเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับไอที ที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคม และความสมเหตุสมผลในการบูรณาการดังกล่าว การบริหารกลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยงต่อการบรรลุเป้าหมายทางดิจิตอล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้องกับไอทีนั้น รวมทั้ง ความคล่องตัวทางด้านไอที และการส่งมอบบริการทางด้านไอที มีความสำคัญมากเป็นระดับต้นๆ รัฐบาล/องค์กร มีความพร้อมแล้วหรือยัง?

เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับไอทีดังกล่าว ต้องถามต่อไปว่า จะขับเคลื่อนไปด้วยเป้าหมายของปัจจัยเอื้อที่ก่อให้เกิดความสำเร็จ ที่มีผลไปถึงเป้าหมายของกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับไอที กับกระบวนการที่สนับสนุนเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับไอทีที่นำไปสู่เป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคม ก็ยังไม่เพียงพอ ปัจจัยที่สำคัญยิ่งที่เป็นปัจจัยเอื้อในการประสบความสำเร็จดังกล่าว จะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พฤติกรรม และจริยธรรม โครงสร้างการจัดการระดับประเทศ/องค์กร

ผลของการประเมินตนเองในกรอบใหญ่ๆ ตามตัวอย่างข้างต้น ผู้ประเมินตนเอง ทั้งในระดับรัฐ  องค์กร และบุคลากร ควรมีความเข้าใจในกระบวนการที่มีความสัมพันธ์กันและกันอย่างลึกซึ้ง ระหว่างเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน กับความสัมพันธ์ของเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับไอทีอย่างแท้จริง เพราะจะมีผลลัพธ์ต่อการประเมิน “การประเมินความน่าเชื่อถือของประเทศ/องค์กร”

 

การประเมินความน่าเชื่อถือ และคำถามบางประการที่เกี่ยวกับการกำกับดูแล และการบริหารจัดการไอที ระดับประเทศ/องค์กร

หลักการกำกับดูแล และการบริหารจัดการที่ดีที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ/องค์กร นั้น การบูรณาการและการควบคุมกำกับดูแลไอที ระดับประเทศ/องค์กร เข้าไปในการควบคุมกำกับดูแลการบรรลุวัตถุประสงค์ระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม และการเติบโตอย่างยั่งยืนของประชาชนภายในประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ในปี 2575 นั้น ผมใคร่ขอย้ำว่า ระบบการกำกับดูแลของไอทีระดับประเทศ/องค์กร ตามที่กล่าวโดยย่อข้างต้น และตามที่ผมเคยเล่าให้ฟังมาแล้วในเรื่องก่อนหน้านี้ สามารถบูรณาการอย่างไร้รอยต่อ เข้ากับระบบการกำกับดูแลที่ดีได้ทุกเรื่อง และเป็นสากลด้วย เพราะการกำกับและการดำเนินงานดังกล่าว สามารถครอบคลุมหน้าที่งานและกระบวนการทั้งหมดที่จำเป็นที่ต้องกำกับดูแลและบริหารจัดการสารสนเทศ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องระดับประเทศ/องค์กร จะได้รับการประเมินผลที่สามารถขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และในองค์กรหลักๆ ได้อย่างมั่นใจ เพื่อการก้าวไปสู่เป้าหมายหลักที่สำคัญยิ่งของประเทศในการสร้าง “ความน่าเชื่อถือ” ในกระบวนการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ผมใคร่ขอทบทวนวัตถุประสงค์ของการกำกับดุแลที่ดี เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มที่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม และมีผลดีต่อผู้มีผลประโยชน์ร่วมทั้งภายในและภายนอกประเทศ ก็คือ การกำหนดวัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลที่ชัดเจน ในเรื่องการได้รับผลประโยชน์ตามวิสัยทัศน์ของประเทศ/องค์กร ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม และการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ปราศจากการคอรัปชั่นในทุกรูปแบบ ที่บุคลากรที่เกี่ยวข้องควรเข้าใจในเรื่องการบริหารความเสี่ยงแบบบูรณาการ ที่เกี่ยวข้องกับ IT Risk และ Economic and Social Risk รวมทั้งขอบเขตและกรอบการกำกับดูแลที่เชื่อมโยงระหว่างวัตถุประสงค์ตามนโยบายดิจิตอล และวัตถุประสงค์เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม โดยเชื่อมโยงกับปัจจัยเอื้อ เพื่อการกำกับดูแลที่ดี โดยการกำหนดบทบาทหน้าที่ กิจกรรม และความสัมพันธ์ให้เป็นไปตามหลักการและกรอบการดำเนินงานระดับประเทศ/ องค์กร สำหรับการกำกับดูแลและการบริหารจัดการที่ดี

ในตอนต่อไป ก่อนที่เราจะประเมินเรื่องความน่าเชื่อถือของประเทศไทย/องค์กร จะมีคำถามเพื่อการประเมินตนเองต่อเนื่องกันไปบางประการ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลและการบริหารจัดการที่ดี ที่มีผลต่อผู้มีส่วนได้เสียภายใน และผู้มีส่วนได้เสียภายนอก โดยการตั้งคำถามจากผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวว่า เราควรจะตอบคำถามที่มีเหตุมีผลในการบริหารการสร้างคุณค่าเพิ่ม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งอาจจะเรียกว่า เป็นดุลยภาพของการบริหารเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนที่แท้จริงต่อไปครับ

 


ความเชื่อ กับ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development ตอนที่ 4

ธันวาคม 13, 2016

โลกที่พลิกโฉม กับ ความเชื่อ ที่ผ่านกระบวนการกำกับของคณะกรรมการฯ และผู้นำประเทศ

ตอนที่3 ผมได้พูดถึงเรื่อง Internet of Things ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ยุคที่สิ่งของสามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อกันได้โดยผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีผลทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเรา รวมทั้งการกำกับ การบริหารจัดการ การควบคุมและการตรวจสอบ การบรรลุเป้าหมายที่เป็นความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วม มีข้อสังเกตุและส่งผลไปยังแนวโน้มให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร ที่มีภารกิจในการสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) ตามความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วม ที่มีความต้องการที่แตกต่างกันนั้น ได้พบกับความท้าท้ายทางด้านเทคโนโลยี ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลกับทั่วโลกไว้ในมือถือ ที่เล็กเพียงฝ่ามือ ที่ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลได้ทั่วโลก ซึ่งสร้างคุณประโยชน์ต่างๆ มากมาย แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง หากเราเข้าใจว่าเหรียญมีสองด้านแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า คณะกรรมการ และผู้บริหาร ที่มีหน้าที่ในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย กลยุทธ์ในการก้าวไปสู่การสร้างคุณค่าเพิ่ม มีภัยที่แอบแฝง ที่มีความน่ากลัวเป็นอย่างมาก สำหรับความไม่พร้อมในการรับมือกับโลกธุรกิจที่ได้เปลี่ยนโฉมอย่างรวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีใช้กันในทุกวันนี้

ประเด็นตามวรรคต้นก็คือ ประเทศชาติ องค์กร คณะกรรมการ ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน มีความพร้อมที่จะสามารถสร้าง “ความน่าเชื่อถือ” ให้เกิดกับผู้มีผลประโยชน์ร่วม (Stakeholders) ในยุคดิจิตอลที่มีการพัฒนารวดเร็วได้อย่างไร และในฐานะที่ คณะกรรมการต้องมีความรับผิดชอบในการกำกับในโลกยุคใหม่ ที่แยกกันไม่ได้ระหว่างโลกธุรกิจ และโลกยุคดิจิตอล หรือยุค Internet of Things จะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าเป็นลักษณะที่พลิกโฉม ต่อการดำเนินงานทางธุรกิจ ที่มีผลกระทบมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ให้บริการทางด้านการเงิน การบริการ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ธุรกิจมีผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่มีผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจที่ได้เปลี่ยนแปลงหรือพลิกโฉม (Disrupt) การทำงานของคณะกรรมการ ที่มีหน้าที่ในการกำกับและดูแลกิจการของบริษัทต่างๆ ที่ควรจะประเมินศักยภาพ ความสามารถในการกำกับจากพลังของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สร้างความได้เปรียบ หรือเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญ ต่อการแข่งขัน และการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยที่องค์กรไม่ถูก Disrupted จากยุค Internet of Things

นั่นคือ ความท้าทายที่สำคัญยิ่งที่แนวทางการกำกับในโลกยุคปัจจุบัน และในอนาคต การทำหน้าที่ของคณะกรรมการได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับยุคของดิจิตอล ควรมีความตื่นตัวทางด้านเทคโนโลยี และต้องมองเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่ผ่านทางโทรศัพท์สมาทโฟน  (Smart Phone) ที่ผมอาจกล่าวได้ว่า ความมั่นคง ความปลอดภัย และการก้าวไปสู่ระดับการแข่งขัน ในโลกของดิจิตอลนั้น หากองค์กรใดไม่ใช้กลยุทธ์หรือประโยชน์ของเทคโนโลยีผ่านสมาทโฟนเป็นหลักก็จะมีปัญหาต่างๆ ในเรื่องความเสี่ยงภัย ที่มีผลกระทบ “ความเชื่อถือ” ซึ่งควรพิจารณาในลักษณะคุณประโยชน์ และผลกระทบจากความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศยุคดิจิตอล ที่มีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนอย่างสำคัญ ที่ก่อให้เกิด Cybercrime and Cybersecurity แนวความคิดเบื้องต้นในช่วงนี้ ผมจึงอยากจะใช้คำว่า “Think negative but go in a positive way.”

Digital Transformation มีทั้งด้านสว่าง ด้านมืดหรือสีเทา ซึ่งนำไปสู่ความท้าทายของกระบวนการกำกับ การบริหาร ที่สามารถตอบความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วมได้เป็นอย่างดี หรือไม่ก็ได้

นั่นคือ รูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ ที่ถือเป็นกลยุทธ์ในยุคดิจิตอล ที่ผมใคร่ขอเน้นว่า กระบวนการสื่อสารควรจะรวดเร็ว ให้เหมาะสมกับ ยุค Internet of Things – IOT ที่การวางกลยุทธ์ควรจะใช้ หรือเชื่อมกับ Smart Phone

การเปลี่ยนโฉม การใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกในทุกด้าน ซึ่งเกิดจาก Internet of Things – IOT / Digital Era เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ขยายออกไปในวงกว้างอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้งและรวดเร็ว เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆ และของประเทศไทยได้พัฒนาไปมาก โดยที่ต้นทุนของอุปกรณ์และองค์ประกอบต่างๆ ทางเทคโนโลยีมีราคาถูกลงมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีข่าวว่า ต่อไป Smart Phone ที่มีราคาถูกและสามารถใช้การได้จะมีราคาเพียงเครื่องละประมาณ $10  ดังนั้นการเข้าถึงและการนำโทคโนลยีมาใช้ในแต่ละองค์กรที่มีผลต่อเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน การอุตสาหกรรม การให้บริการ และสังคม จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่ง ในโลกธุรกิจที่ได้พลิกโฉมใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้กำกับ ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน ในแทบจะทุกธุรกิจ ดังนั้น ในทีมของคณะกรรมการควรจะมีกรรมการ ที่มีความรู้ความสามารถในการกำกับการบริหารเพื่อการสร้างคุณค่าเพิ่ม ตอบสนองความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วม ที่นำเทคโนโลยีมาใช้และมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างคุณค่าเพิ่มที่มีองค์ประกอบหลักๆ คือ การวางกลยุทธ์ และพันกิจ และนโยบายที่จะพาองค์กรก้าวไปสู่ผลประโยชนฺ์ที่องค์กรจะได้รับ ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงที่ดี และการบริหารทรัพยากรที่ดีที่เหมาะสม ในรูปแบบของการกำกับแบบบูรณาการ ตามกรอบการดำเนินงานทางธุรกิจ สำหรับการกำกับดูแลและการบริหารจัดการไอทีระดับองค์กร และในระดับประเทศ ที่เรียกรวมๆ กันว่า Governance Enterprise of IT – GEIT ตามที่ผมได้เขียนไว้แล้วในบทความเรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลกับความยั่งยืน เพื่อความก้าวหน้าของประเทศ

digital-threatscredit image: http://www.techprevue.com

ในปัจจุบัน หน่วยงานกำกับที่สำคัญๆ  เช่น กลต. ธปท. คปภ. และอาจจะรวมทั้ง สคร. และหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับ (Regulators) และหน่วยงานที่ถูกกำกับ (Regulated Entities) ภายใต้การสังกัดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว กำลังก้าวมาสู่แนวทางการกำกับยุคใหม่ที่อาจเรียกกว้างๆ ได้ว่า เป็นการกำกับในยุค GEIT ที่พิจารณาแนวทางกำกับความเสี่ยงทางด้านดิจิตอล ที่มีผลกระทบต่อผู้มีผลประโยชนน์ร่วม โดยพิจารณาจากมุมมอง การจัดการ การกำกับเทคโนโลยี และธุรกิจที่ได้ผลิกโฉมโดยการเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการกำกับการบริหารยุคใหม่อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะทาง กลต. มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

มาถึงขั้นตอนนี้ ผมก็แค่อยากจะย้ำว่า องค์กรของท่านมีความพร้อมแล้วหรือยัง ในการกำกับและการบริหารความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ ซึ่งถึงแม้จะมีประโยชน์ในการมีการใช้เทคโนลยีใหม่ๆ เหนือจินตนาการ แต่ก็มีความเสี่ยงภัยใหม่ๆ ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจของท่านได้ เช่น นอกจากความเสี่ยงทางด้าน IT Risk แล้ว ยังมีความเสี่ยงทางด้าน Cyber และการโจมตีที่เป็นอันตรายต่อข้อมูลที่เป็นความสำคัญของบริษัทที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในมุมมองนี้ คณะกรรมการ และผู้บริหารบริษัทต่างๆ  ที่มีความเข้าใจและคิดเพียงว่า จะป้องกันการโจมตีและ Cyber อย่างไร แต่ควรคิดว่าจะรับมืออย่างไร หลังถูกโจมตีทาง Cyber

ทั้งนี้เพราะ การโจมตีส่วนใหญ่ เกิดจากการโจมตีจากภายนอก เพราะผู้ไม่ปราถนาดี หวังประโยชน์ทางด้านการเงิน โดยมีรูปแบบในการโจมตีหลากหลาย ตั้งแต่รูปแบบที่มีการโจมตีอย่างง่ายๆ ไปจนถึงรูปแบบที่มีความซับซ้อน รูปแบบการโจมตีง่ายๆ ได้แก่ การส่งมัลแวร์มาทางอีเมล์ โดยปลอมเนื้อหา และผู้ส่งอีเมล์ที่ดูน่าเชื่อถือ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดาวโหลดไฟล์หรือกดลิงก์ และเปิดช่องทางให้ผู้ไม่ปราถนาดีหรือคนร้าย เจาะเข้าไปยังคอมพิวเตอร์และแพร่กระจายไปยังระบบที่เชื่อมต่ออยู่  เรื่องนี้ คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง มีโอกาสได้รับผลกระทบที่ไม่มีผลเฉพาะชื่อเสียงขององค์กร แต่มีผลกระทบในฐานะผู้รับผิดชอบด้วย

ทั้งนี้เพราะ ตามข่าว มีบริษัทที่มีชื่อเสียงหลายแห่งทั่วโลก ถูกผู้ถือหุ้นและผู้มีผลประโยชน์ฟ้องร้องหลังถูกโจมตีทาง Cyber เพื่อขโมยข้อมูลที่สำคัญ ดังนั้น คณะกรรมการ และผู้บริหารระดับสูง ต้องดูแลให้แน่ใจว่า ทั่วทั้งองค์กร ได้กำหนดนโยบาย การบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการตรวจสอบที่ได้มาตรฐานหรือ มีกรอบตาม Good Practice ที่ยอมรับกันทั่วโลก เพื่อสร้าง “ความเชื่อถือ” จาก Internet of Things หรือภัยจากเทคโนโลยี

เรื่องที่ผมได้กล่าวตามข้างต้นนั้น มีผลกระทบต่อ โลกที่พลิกโฉมกับความเชื่อที่ผ่านกระบวนการกำกับของคณะกรรมการ ที่เกี่ยวข้องกับ “ความเชื่อ กับ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development” ทั้งสิ้น ครับ

เรื่องในตอนที่ 4 นี้ ท่านผู้อ่านคงสังเกตุนะครับว่า ผมย้ำในเรื่องเกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือ จะเกิดขึ้นได้ในโลกยุคดิจิตอล และวิวัฒนาการในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน การบริหาร การจัดการ การแข่งขัน และอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศไทยเราทั้งสิ้น และใคร่ขอย้ำว่า ความเสี่ยงภัยที่เกิดจาก Internet of Things / Digital Disruption / Digital Era  ในยุคปัจจุบันและจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายในอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจการเงินและการบริการ และการผลิต รวมทั้งความมั่นคงของประเทศนั้น จะขึ้นอยู่กับ ความเป็นผู้นำของประเทศ ความเข้าใจของคณะกรรมการ กรรมการตรวจสอบ ผู้บริหารระดับสูง ผู้ปฏิบัติงานในระดับต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจของผู้มีผลประโยชน์ร่วม ที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน

สรุปในตอนที่ 4 นี้ว่า Reputation Risk และการสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ขึ้นอยู่กับผู้นำของประเทศและขึ้นอยู่กับผู้นำขององค์กรเป็นสำคัญ

กระบวนการก้าวสู่ Digital transformation นั้น มีความเสี่ยงที่ท้าทายคณะกรรมการฯ คณะกรรมการตรวจสอบ ผู้บริหารระดับสูง ควรพิจารณาหลายประการ ซึ่งผมจะเล่าสู่กันฟังในตอนต่อๆ ไปนะครับ


ความเชื่อ กับ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development ตอนที่ 3

ตุลาคม 4, 2016

ผลประโยชน์ทางสังคมกับการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

การวางเป้าหมายกับการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ควรมองภาพไปข้างหน้าในระยะยาวว่า การพัฒนาใดๆ ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้ หรือไม่สามารถจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของผู้มีผลประโยชน์ร่วมที่มีความต้องการแตกต่างกันได้ หรือสังคมไม่มีความเชื่อถือต่อประเทศ/องค์กรที่แน่นอนว่า สังคมโดยรวมจะมุ่งประเด็นไปที่ ประเด็นความไม่น่าเชื่อได้ของคณะกรรมการและ/หรือผู้บริหาร ที่มีนัยสำคัญ เช่น หากรัฐหรือภาคเอกชน ที่ไม่สามารถจัดการผลประโยชน์ทางสังคม ที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการได้ในระยะสั้น และในระยะยาว ก็ขาดนโยบาย ขาดวิสัยทัศน์ ขาดพันธกิจ ที่สังคมต้องการ เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น เศรษฐกิจดิจิตอล และ/หรือ Internet of Things ซึ่งอาจจะมีความหมายไปถึงกระบวนการพัฒนาทุกสิ่งจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการสื่อสารที่เรียกว่า “อินเทอร์เน็ต” ที่เชื่อมโยงอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ และการบริการต่างๆ ในทุกเรื่อง ในทุกมุมมอง ที่จะให้อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีล้ำยุคสามารถสื่อสารกันเองได้ โดยตอบสนองความต้องการของผู้ใช้แบบบูรณาการ อย่างที่อาจเรียกได้ว่า ไร้ขอบเขตจำกัด ที่ขับเคลื่อนไปด้วยกันกับระบบการสื่อสารและการใช้ platform ซึ่งในที่นี้หมายถึง เทคโนโลยีพื้นฐานของเทคโนโลยีหรือกระบวนการอื่น หรือ ฐานของระบบนั้นๆ  ถ้าเป็นวงการเกมส์ Platform ก็จะหมายถึงเครื่องที่ใช้เล่น เช่น PC, PS3, PS4, Xbox หรืออาจจะพิจารณาในมุมมองของการตลาด ซึ่งมุ่งเน้นไปยัง  SMAC – Social, Mobile, Analytical/Big data, Consumeration of IT, Cloud

digital-is-iot

ทั้ง 5 องค์ประกอบหลัก ที่เกี่ยวข้องกับสังคมของการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนนี้ จะเกี่ยวข้องกับยุคดิจิตอล และนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งมีผลไปยังเศรษฐกิจและสังคมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิต การให้บริการ ที่ก่อให้เกิดการสร้างคุณค่าเพิ่มอเนกอนันต์ ต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่ถูก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นอย่างมาก

ตามที่ผมได้เกริ่นนำในวรรคต้นที่เกี่ยวข้องกับ SMAC ทั้ง 5 องค์ประกอบนี้นั้นก็คือ Internet of Things นั่นเอง ตัวอย่างเช่น การเชื่อมโยง internet เข้ากับอุปกรณ์ของใช้ทั้งที่มีตัวตน และไม่มีตัวตนเข้าด้วยกันเพื่อก่อให้เกิดคุณค่าเพิ่มในการใช้สอยในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ซึ่งในอนาคตไม่ไกลนัก พฤติกรรมของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงไปและมีความสะดวกสบายอย่างมากมาย

ดุลภาพและความเข้าใจของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการเติบโตของยุคดิจิตอล

การสร้างดุลภาพและความเข้าใจในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถที่จะใช้โอกาสของการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกมิติ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมนั้น ผู้กำกับและผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชน ต้องมีวิสัยทัศน์และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ในการวางแผนระยะยาว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วม ในการสร้างคุณค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน โดยมีหลักการ กระบวนความคิดในการทำงาน ที่สามารถนำไปใช้จนเกิดเป็นวินัย ฝังรากลึกเข้าไปในมโนธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเกิดการพัฒนาไปสู่การเรียนรู้ไปตลอดชีวิต เพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการมี การใช้เทคโนโลยี ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้ผู้กำกับและผู้บริหารบางส่วนอาจจะตามไม่ทันกับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนางาน และพัฒนาคน ให้เหมาะสมกับรูปแบบของการพัฒนาองค์กรเพื่อให้เกิดความยั่งยืนยุคใหม่

การพัฒนาประเทศและองค์กรให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาฯ

การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนประเทศและองค์กรให้ประสบความสำเร็จ อาจจะเริ่มต้นด้วยการประเมินตนเอง ในระดับประเทศและระดับองค์กร ซึ่งผมได้กล่าวไปบ้างแล้วในตอนที่ 1 นั้น เราลองมาศึกษาแนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายในการสร้างสังคมที่ดี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สูงกว่า เป้าหมายการสร้างองค์กรที่ดี ซึ่งในยุคปัจจุบันมีนัยและมีความสำคัญยิ่ง ในการทำความเข้าใจเพื่อก้าวไปสู่ประเทศและองค์กรที่มีการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามบทบาทและหน้าที่ที่รับผิดชอบในระดับต่างๆ ได้ ดังนั้น ความคิดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างระบบ การกำกับดูแล และการบริหารจัดการระดับองค์กรที่ดีนั้น ควรจะถูกผลักดันโดยผู้มีผลประโยชน์ร่วมที่เกี่ยวข้อง เพื่อการสร้างคุณค่าเพิ่มหรืออาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการสร้างคุณค่าเพิ่มตามหลักการระบบธรรมาภิบาล หรือ Governance ที่ต้องคำนึงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรมต่างๆ ทั้งทางด้านการเงิน การผลิต การบริการ เพื่อให้สังคมได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยมีต้นทุนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิผล และมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับผู้ใช้ นั่นคือ Governance ยุคใหม่ จะต้องเป็น Governance of Enterprise IT – GEIT

Governance of Enterprise IT – GEIT เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

GEIT สามารถลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การบริการ การผลิต การศึกษา ฯลฯ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไรนั้น ผมได้เกริ่นนำไว้ในวรรคแรกของตอนที่ 3 นี้แล้ว ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Internet of Things ซึ่งผมขอเล่ารายละเอียดให้ท่านผู้อ่านในตอนต่อไปนะครับ


ความเชื่อ กับ การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development ตอนที่ 2

สิงหาคม 10, 2016

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

หากประเทศไทยของเรา องค์กรของเรา ครอบครัวของเรา พ่อแม่ของเรา และ ตัวของเราเอง อาจขาดทัศนคติ ขาดวิสัยทัศน์ ขาดการเปิดใจ หรือเป็นคนช่างสังเกต ช่างคิด ช่างวิเคราะห์ถึงสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไปอย่างมากมาย ในยุคดิจิตอลปัจจุบัน ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการพัฒนาของประเทศต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันมาก สำหรับประเทศตะวันตกหรือประเทศในสหรัฐอเมริการกับประเทศต่างๆ ในตะวันออก เอเชีย และอาฟริกา ว่าทำไมระดับความเจริญ ระดับการพัฒนา ที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าในมิติต่างๆ ของการพัฒนาบ้านเมืองในประเทศของเขา การพัฒนาคนของเขา ที่ส่วนใหญ่มาจากการพัฒนาทางความคิด ในเชิงวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ และมีการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ทั้งในเชิงการผลิตสินค้า และบริการ เชิงการบริหารการจัดการที่ดี เชิงการวิเคราะห์ความเสี่ยง เชิงการวิเคราะห์การควบคุม และมิติอืนๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา เพื่อประโยชน์ในการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับคนในประเทศของเขา รวมทั้งการเรียนการสอน และการสื่อสารที่เชื่อมโยงและมีความคิดตั้งแต่การพัฒนาในวัยเด็ก ให้รู้จักคิด รู้จักถาม รู้จักสังเกตสิ่งแวดล้อม การสร้างวินัย การอบรมบ่มนิสัยเด็กๆ ไปจนเติบโตไปถึงผู้ใหญ่ และก้าวไปสุ่วัยการทำงาน ก็มีกาาสื่อสารในการปรับปรุงต่างๆ ให้เหมาะสม มีการพัฒนากระบวนความคิด กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ผสมผสานกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างงานใหม่ๅ การสร้างบริการใหม่ๆ และการสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อให้ได้เปรียบในเชิงการแข่งขันระหว่างคนในประเทศ และระหว่างประเทศ ซึ่งจะตามมาด้วยโอกาสในการสร้างงานใหม่ๆ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนลีใหม่ๆ เพื่อการสร้างอนาคต และสร้างตำแหน่งงาน ให้กับคนในประเทศองเขาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และผลกระทบที่เกิดจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสะท้อนมายังการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และวัดความก้าวหน้าและผลสำเร็จกันได้ด้วยรายได้ หรือผลิตภัณฑ์ต่อหัวที่แสดงถึงความสามารถของประเทศโดยรวม เพื่อแสดงถึงการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ตามที่ผมกล่าวข้างต้นนั้น ท่านเชื่อไหมครับว่า ประเทศที่มีวิสัยทัศน์ดังกล่าวข้างต้น สามารถรักษาการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตได้อีกยาวไกล หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของประเทศที่ถ่ายทอดลงมาตามลำดับ ด้วยวิธีการสื่อสารที่ทันสมัยและเหมาะสม อย่างทั่วถึงไปยังประชาชนทุกวัยของเขา

โปเกม่อน โก กับการสร้างคุณค่าเพิ่มจากเกมยุคดิจิตอล

ก่อนที่เกมส์นี้จะมาถึงประเทศไทยในวันที่ 6 สิงหาคม 2559 นั้น เราส่วนใหญ่ก็ได้เห็นความดังของโปรแกรมเกมส์นี้ ผ่านจอทีวี ที่เผยแพร่ด้วยภาพแสดงความตื่นเต้นของประชาชนในประเทศต่างๆ ที่ได้เล่นเกมส์แสนสนุกและท้าทายมากของเกมส์นี้ และผู้พัฒนาโปรแกรมเกมส์โปเกม่อน โก สามารถทำรายได้อย่างมหาศาล เพียงการเปิดตัวไม่กี่สัปดาห์ ทั้งๆ ที่เป็นเพียงเกมส์ออนไลน์เกมส์หนึ่ง แต่อาศัยความรู้ความเข้าใจที่ผสมผสาน และสร้างจินตนาการของเกมส์นี้ให้สนุกโดยผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการใช้บอร์ดแบรนด์ 4G++ หรือ wifi ที่มีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลมากพอที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบ GPS ในการจับสถานที่ต่างๆ เพื่อการเล่นเกมส์นี้ได้ทั่วแห่งทั่วโลก แม้กระทั่งในบ้านของเราเอง และเกมส์นี้เป็นเกมส์เสมือนจริง / Virtual โดยใช้ศักยภาพทางด้านเทคโนโลยี GPS ของ Google กับผู้พัฒนาโปรแกรมเกมส์ Pokemon Go ของ Nintendo ซึ่งผมเองได้ทดลองเล่นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่หัวหิน และกลับมาเล่นต่อที่บ้าน เพื่อศึกษาว่าทำไมเกมส์นี้จึงเป็นที่นิยมกันแพร่หลายทั่วโลกอย่างน่าแปลกใจ ซึ่งสังเกตจากความสนใจจากผู้คนในประเทศฝรั่งเศส ประเทศออสเตรเลีย ประเทศอเมริกา และอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีการเปิดบริการเกมส์นี้ให้เล่นแล้ว

ความสนุกของโปรแกรมเกมส์นี้ เท่าที่ผมได้ทดลองเล่นก็คือ ผมสามารถจับตัวโปเกม่อนได้ง่ายๆ ที่บ้านผมเอง โดยตัวการ์ตูนได้แสดงเป็นภาพเสมือนตัวผมเองที่อยู่ในซอยบ้านผมที่ปรากฎในแผนที่จริงตาม GPS ที่แสดงตำแหน่งที่ผมอยู่ รวมทั้งสภาพแวดล้อมในแถบบริเวณบ้านผม ซึ่งผมตื่นเต้นตั้งแต่วินาทีแรกที่ผมเห็นภาพเสมือนจริงเหมือนสภาพแวดล้อมที่ผมคุ้นเคย และแปลกใจว่าผู้พัฒนาโปรแกรมเกมส์นี้ทำได้อย่างไร ความสนุกอยู่ที่ผมต้องติดตามอ่านคำสั่งที่มีขั้นตอนที่ชัดเจนเป็นภาษาอังกฤษ ให้หาตัวโปเกม่อน ที่อยู่ในบ้านผม และใกล้กับผมเอง ซึ่งในที่สุดผมก็หาจนเจอโดยใช้เวลาไม่มากนัก ตอนนี้เป็นตอนที่ได้ความสนุกมากที่สุด ซึ่งเป็นความฉลาดของผู้พัฒนาโปรแกรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่เล่นใหม่ทุกคน สามารถจับโปเกม่อนที่อยู่ใกล้ตัวได้ในเวลาไม่นาน และก็สามารถเก็บตัวโปเกม่อนไว้ในลูกบอลได้ ขั้นตอนต่อไปของเกมส์นี้ก็คือ สั่งว่าให้ไปหาตัวโปเกม่อนที่เสาไฟฟ้าข้างบ้าน ผมจึงต้องลงจากบ้านที่อยู่ชั้นสอง ลงไปชั้นล่างที่ใกล้กับเสาไฟฟ้า และในที่สุดพบก็พบโปเกม่อนตัวที่ 2 ตามที่โปรแกรมบอกมา ตัวที่ 2 นี้ เริ่มต้องใช้ความพยายามมากขึ้น โดยเคลื่อนตัวเองให้ออกจากบ้านมาหาโปเกม่อนใกล้ๆ บ้าน เป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่งในเบื้องต้น ที่สามารถทำให้ภรรยาผม ซึ่งคอยจ้องดูการกระทำของผมนึกสนุกไปด้วย หากผมยังมีลูกเล็กๆ ลูกคงตามผมลงไปจับโปเกม่อนตัวที่ 2 ด้วยแน่ๆ ความสนุกสนาน ความใกล้ชิดก็จะเกิดขึ้นระหว่างบุคคลในครอบครัวมากขึ้น และมีการเรียนรู้ด้วยกัน จากคำสั่งที่มาเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเราสามารถที่จะสื่อสารกับคนในครอบครัวได้ เป็นการเรียนรู้จากของจริงโดยไม่เบื่อหน่ายเลย

จากนั้นโปรแกรมก็จะสั่งต่อให้ไปหาโปเกม่อนตัวที่ 3 ซึ่งอาจจะอยู่ใกล้บ้าน หรือต้องเดินมากขึ้น หรือบางท่านที่เล่นอาจจะพบโปเกม่อนตัวที่ 3 ในบ้านอีก เช่น ศาลพระภูมิ ซึ่งในเมืองไทยจะผูกตัวโปเกม่อนให้เข้ากับวัฒนธรรม และความเชื่อ ในสถานที่ต่างๆ และขั้นตอนต่อไปก็จะออกไปไกลยิ่งขึ้น อย่างเช่น ลูกของผมไปจับโปเกม่อนที่สวนพฤกษชาติใกล้บ้าน ซึ่งผู้คนที่อยู่ในสวนนี้ต่างเล่นโปเกม่อน โก กันอย่างสนุกสนาน ทำให้รู้จักกับผู้คนที่เข้ามาใช้บริการในส่วนนี้อย่างสนิทสนมและเป็นกันเอง โดยไม่เขอะเขิน ซึ่งแตกต่างจากการไปออกกำลังกายของผมและลูกๆ ที่เคยไปออกกำลังกายในสถานที่แห่งนี้ในอดีต ที่ส่วนใหญ่จะคุยกับบุคคลในครอบครัวเท่านั้น แนวคิดนี้ จึงเป็นการสร้างมิตรภาพ ความรักความสมานฉันท์ ของบุคคลในชุมชนอย่างนุ่มนวล ทำให้เรารู้จักทักทายกันมากขึ้น ง่ายขึ้น ยิ้มแย้มเข้าหากันอย่างสนิทใจ โดยมีเพียงโปรแกรม Pokemon Go นี้ เป็นเกมส์ในการสื่อสารที่แสนวิเศษ

นอกจากนี้ โปรแกรมเกมส์นี้ ท่านผู้อ่านที่ติดตามทางทีวี และผู้ที่เล่นเกมส์นี้มากกว่าผมคงจะได้รับประสบการณ์ในการหาตัวโปเกม่อนตัวต่อๆ ไป ในสถานที่อื่นๆ และในบางกรณี ต้องเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อจับตัวโปเกม่อนที่ถูกออกแบบไว้ให้มีเฉพาะภายในประเทศนั้น หรือสถานที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น เมื่อเช้าวันอังคารที่ 9 สิงหาคม 2559 ผมดูทีวี มีภาพชายหนุ่มคนหนึ่งในประเทศอเมริกาที่จับตัวโปเกม่อนต่างสายพันธ์ุได้ 145 ตัว ครบกำหนดตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ และเขาได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะยังคงติดตามเกมส์นี้ต่อไปเพราะสนุกมาก และเชื่อมั่นว่าผู้พัฒนาโปรแกรมเกมส์นี้จะมีเวอร์ชั่นใหม่ๆ ออกมาตามลำดับ และน่าสนใจยิ่งกว่านี้

การสร้างโอกาสทางธุรกิจจากบทเรียน Pokemon GO V.01

เท่าที่ผมเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังโดยย่อนั้น ท่านเห็นภาพและเกิดจินตนาการหรือความสงสัยประการใดบ้างหรือไม่ครับว่า ผู้พัฒนาโปรแกรมเกมส์นี้ มีความคิดอย่างไร และนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยุคใหม่ มาประยุกต์ให้เข้ากับเกมส์ที่ดูเสมือนจริง และทำให้เกิดความสนุกสนาน รวมทั้งการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับบริษัทผู้พัฒนา และผู้มีผลประโยชน์ร่วมของกลุ่มผู้พัฒนา และต่อสังคมในประเทศของเขา และทั่วโลกได้อย่างไร ถึงแม้ว่า การจับตัวโปเกม่อนในช่วงต่อๆ ไป จะเป็นความท้าทายที่นอกเหนือจากการจับตัวโปเกม่อนที่บ้านง่ายๆ อาจต้องไปตามจับยังสถานที่อื่นๆ เช่น ที่สนามหลวง วัดพระแก้ว สวนหลวง ร.9 และสถานที่น่าสนใจต่างๆ ของประเทศไทย และทั่วประเทศที่มีสถานที่ท่องเที่่ยว และบางครั้งต้องไปจับตัวโปเกม่อนในน้ำ หรืออาจจะเลยเถิดไปกว่านั้นก็คือต้องไปตามจับโปเกม่อนในสถานที่เป็นความลับของทางราชการ ก็จะเกิดทั้งความสนุกและความเสี่ยงของผู้เล่นกันไป จินตนาการแบบนี้เขาทำกันได้อย่างไร สร้างกันได้อย่างไร เช่น ตัวอย่างง่ายๆ อย่างที่ผมเล่าให้ฟังในวรรคก่อน ผมไม่เคยเล่นเกมส์ แต่เพียงแค่ดาวโหลดโปรแกรมมาจากระบบ Cloud ซึ่งระบบนี้สามารถใช้งานและสร้างศักยภาพในการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ และสามารถลดต้นทุนได้อย่างมหาศาล ถ้ารู้จักการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม อย่าลืมนะครับว่า การบริหารความเสี่ยงมี 2 มิติใหญ่ๆ ก็คือ ความเสี่ยงที่เป็นเชิงลบ ที่มีผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของประเทศ ขององค์กร ของสายงานต่างๆ ในองค์กร และผลกระทบเชิงลบต่อบุคคลากรในองค์กร หรือประเทศนั้น หรือแม้แต่ตัวเราเอง และความเสี่ยงในเชิงบวกที่สามารถสร้างคุณค่าเพิ่มได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น

ในกรณีความเสี่ยงเชิงลบที่มีผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ เช่น กรณีโปเกม่อน ที่ถูกผูกเข้าไว้ให้ไปหาในสถานที่ที่เป็นความลับทางทหาร ความลับของทางราชการ หรือตัวโปเกม่อนที่ไปอยู่บ้านคนอื่น หรือแม้กระทั่งอยู่ในน้ำ หากผู้เล่นมุ่งมั่นจะจับตัวโปเกม่อนให้ได้ แม้กระทั่งยามวิกาลโดยการบุกรุก อาจจะไม่ตั้งใจ เข้าไปในสถานที่ต้องห้ามอย่างไม่รู้ตัว ก็พิจารณาได้ว่า เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามหรือเป็นการกระทำที่มิชอบในการบุกรุกสถานที่ราชการ หรือสถานที่ที่เป็นความมั่นคงทางทหาร ก็อาจจะเกิดความเสียหายร้ายแรงถึงขึ้นเสียชีวิตได้ หรืออย่างน้อยอาจถูกจับได้ตามที่เป็นข่าวทางทีวี เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้ ผู้พัฒนาโปรแกรมเกมส์โปเกม่อน ซึ่งเป็นผู้ผูกตัวโปเกม่อนไว้ในสถานที่ต่างๆ ทั้งในระบบเปิด เช่น ที่บ้านของเรา ที่บ้านของคุณ สถานที่ทำงานของคุณ สถานที่ทำงานของเรา เพื่อเป็นการสร้างความตื่นเต้นให้ผู้เล่นที่ดาวโหลดโปรแกรมนี้ได้พบกับตัวโปเกม่อนได้อย่างง่ายดาย กรณีเช่นนี้ ผมเรียกว่า เป็นการผูกตัวโปเกม่อนไว้กับระบบเปิด โดยมีวิธีการที่ผมเข้าใจว่า ผู้พัฒนาโปรแกรมได้ผูกระบบ GPS เข้ากับสมาร์ทโฟนของผู้เล่นเกมสนี้ในขณะนั้น ในเวลานั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การ mapping ตัวโปเกม่อนเข้ากับตัวผู้เล่นที่เขาอยู่หรือใช้งานในตอนต้น ผู้เล่นก็สามารถจับตัวโปเกม่อนได้อย่างง่ายดายและน่าตื่นเต้นยิ่ง เป็นความสุขที่เกิดขึ้นทันทีที่เล่นเกมส์นี้

ในกรณีความเสี่ยงเชิงบวก ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ การสร้างคุณค่าเพิ่มจากโอกาสทางธุรกิจจากโปรแกรมเกมส์นี้ โดยประชาสัมพันธ์ให้ไปจับตัวโปเกม่อน ในสถานที่ที่เป็นร้านอาหาร หรือที่พัก เช่น ศาลาแม่ริม ที่เชียงใหม่ หรือสถานที่อื่นๆ เช่น สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ วัดวาอาราม โรงแรม เป็นต้น สามารถสร้างคุณค่าเพิ่มได้ โดยอาศัยแนวความคิดของผู้พัฒนาโปรแกรมเกมส์นี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของตนเอง เช่น การผูกระบบ GPS กับสถานที่ที่เราต้องการสร้างคุณค่าเพิ่ม และประชาสัมพันธ์ว่ามีโปเกม่อนสายพันธุ์หายาก อยู่ในสถานที่นั้นๆ ก็จะเรียกความสนใจให้กับผู้เล่นเกมส์นี้ได้เป็นอย่างมาก ให้เข้ามาในสถานที่ที่เราประชาสัมพันธ์อย่างง่ายดายและต้นทุนต่ำ ยกตัวอย่างเช่น ตั้ง ศาลาแม่ริม เชียงใหม่ หรือที่สยามพารากอน เป็น Pokestop เพื่อเป็นจุดจับโปเกม่อนมากมาย หรือหลายสายพันธุ์ได้ ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดให้ผู้คนมาใช้หรือรับบริการมากขึ้น เป็นต้น

ท่านสามารถสร้างคุณค่าเพิ่มจากโปรแกรม Pokemon Go ได้หรือยังครับ

หากการเล่นสนุกตามเกมส์โปเกม่อน สามารถบันดาลใจให้ท่านเกิดความคิดเชิงบวก และเชิงลบที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว เพื่อให้เกิดเชิงบวกสุทธิ ในการสร้างคุณค่าเพิ่มกับธุรกิจของท่าน หรือตัวท่านเอง ผมเข้าใจในเบื้องต้นว่า เราลองศึกษาและผูกความเข้าใจใน Logic / ตรรกะ เชิงความคิดต่อยอดให้มากกว่าที่ผมอาจเข้าใจได้ไม่มากนัก ตามที่กล่าวข้างต้นได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการสร้างความเชื่อในมิติที่ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศก็คือทรัพย์สิน หรือ Asset ที่ทรงคุณค่ายิ่งในโลกดิจิตอลปัจจุบันนี้ครับ นี่คือการสร้างความเชื่อที่เป็นไปตามหลักการ และเป็นไปตามกรอบความคิดที่มีนิมิตร เชื่อมโยงนวัตกรรมที่เกิดจากความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีความเกี่ยวพันกับธุรกิจที่สามารถสร้างคุณค่าเพิ่มในระดับประเทศและระดับองค์กร ระดับสายงาน และตัวเราเองได้ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่เติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร และประเทศชาติได้ในที่สุด ครับ


ความเชื่อ กับ การพัฒนาการเติบโตอย่างยั่งยืน / Trust and Sustainable Development ตอนที่ 1

กรกฎาคม 5, 2016

หลังจากที่ผมได้จบบทความเรื่อง เศรษฐกิจดิจิตอล หรือ Digital Economy ซึ่งเขียนมารวม 15 ตอน ไปแล้วนั้น ผมได้จบเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอลลงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกำกับของ Regulators การบริหารการจัดการของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเป็นเรื่องของ Management ซึ่งได้แยกบทบาทที่ชัดเจนของความรับผิดชอบที่ตอบสนองความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วม ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนความต้องการสร้างผลประโยชน์ที่จะได้รับควบคู่กับ การบริหารความเสี่ยงที่ดี และการบริหารทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ โดยสรุปก็คือ การสร้างคุณค่าเพิ่ม หรือ Value Creation เพื่อสนองตอบความต้องการต่างๆ ของผู้มีผลประโยชน์ร่วม ที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน หากท่านผู้อ่านสนใจก็สามารถติดตามได้จากบทความนี้ตามที่กล่าวแล้วนะครับ

ท่านผู้อ่านบางท่านได้แบ่งปันเรื่อง Digital Economy กับผม หลังที่ผมได้จบบทความแล้ว หรือถามผมว่าทำไมไม่อธิบายเรื่องความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการกำกับ และการบริหาร รวมทั้งการจัดการกับทรัพยากรที่แยกกันไม่ได้ในการสร้างคุณค่าเพิ่ม ผมได้ตอบไปว่า เป็นคำถามที่ดีมากครับ แต่บทความเศรษฐกิจดิจิตอลจะต้องต่อไปอีกหลายตอนมากๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านบางท่านเบื่อเสียก่อน ผมจึงมาแฝงเรื่องดังกล่าวมากับบทความเรื่องนี้ “ความเชื่อ กับ การพัฒนาการเติบโตอย่างยั่งยืน” (Trust and Sustainable Development) ซึ่งจะครอบคลุมในภาพกว้างของการบริหารความเสี่ยงในบางมิติที่เกี่ยวข้องกับ “ความเชื่อ” ซึ่งเป็นธงในการขับเคลื่อนการพัฒนาการเติบโตอย่างยั่งยืน และอีกหลายมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้ก็คงได้คุยกับผู้อ่านได้หลายตอนเหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดว่า เราจะพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน และการบริการ ในมิติต่างๆ ของประเทศได้อย่างไร ถ้าหากขาดความเชื่อ

ความหมายของความเชื่อ

ความเชื่อมีการให้คำนิยามที่หลากหลาย แล้วแต่มุมมองและนิมิต รวมทั้งพื้นฐาน ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ผมจึงไม่ค้นคว้านำมากล่าวในที่นี้ แต่ผมขอให้คำจำกัดความ “ความเชื่อ” ในมุมมองของผมโดยทั่วๆ ไป ดังนี้

  • ความเชื่อ คือ สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่จะเป็นจริงได้ในอนาคต ซึ่งขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
  • ความเชื่อ คือ ความมั่นใจ การพึ่งพาอาศัย การไว้วางใจ
  • ความเชื่อ คือ การยอมรับว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นความจริง หรือเป็นสิ่งที่เราไว้ใจ
  • ความเชื่อ คือ ความมั่นใจโดยมีเหตุผลหนักแน่น
  • ความเชื่อ คือ ความยุติธรรมและการปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน

ความหมายของความเชื่อ ในมุมมองของการกำกับดูแล และการบริหารจัดการ ยุคไอที

  • ความเชื่อ คือ องค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการที่ทำให้เรามั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมายในอนาคต ได้อย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ
  • ความเชื่อ คือ การมีหลักการ การมีมาตรฐาน ที่สามารถปฏิบัติได้ และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปอย่างกว้างขวาง
  • ความเชื่อ คือ การมีกรอบความคิด กรอบการดำเนินงาน ที่สามารถสนองตอบความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วมที่เหมาะสมได้
  • ความเชื่อ คือ กระบวนการตัดสินใจที่จะใช้ในการกำกับ การบริหาร การจัดการแบบบูรณาการ เพื่อการกำหนดแนวทางในการลงทุน ทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน การบริการ และอื่นๆ

ความหมายของการพัฒนาการเติบโตอย่างยั่งยืน ยุคไอที

  • คือ การพัฒนาทางความคิด เพื่อสร้างนิมิตในการสร้างคุณค่าเพิ่ม สนองตอบความต้องการของผู้บริโภคในทุกมิติ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในกระบวนการดำเนินงาน โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม กฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เป็นสากล
  • คือ การพัฒนาสร้างผลผลิต และการให้บริการ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้มีผลประโยชน์ร่วม ทั้งปัจจุบันและในอนาคต โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางความคิด การมีนิมิตทางนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยียุคใหม่ มาใช้ร่วมกับกระบวนการผลิต การลงทุน การให้บริการ และการกำกับ รวมทั้ง การบริหารการจัดการที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการ และสามารถสนองตอบความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถให้ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการเข้าถึง ผลิตภัณฑ์ และบริการนั้น ได้โดยสะดวกและรวดเร็ว และมีต้นทุนการให้บริการที่ต่ำ มีความเป็นธรรม
  • การพัฒนาอย่างยั่งยืนมีลักษณะที่เป็นบูรณาการ (Integrated) คือทำให้เกิดเป็นองค์รวม (Holistic) หมายความว่า องค์ประกอบทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาประสานกันครบองค์ และมีลักษณะอีกอย่างหนึ่งคือ มีดุลยภาพ

ภาพนิ่ง2

การประเมินตนเองเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับ ความเชื่อ และการเติบโตอย่างยั่งยืน

ก่อนอื่น เราคงต้องถามตัวเราเองหรือทีมงานว่า เรากำลังประเมินตนเองในเรื่องนี้เพื่อใคร ในระดับใด เช่น ในระดับโลก ในระดับประเทศ ในระดับองค์กร ในระดับสายงาน หรือในระดับบุคคล และพิจารณาในมุมมองใด เช่น ในมิติของ Regulators หรือ Operators ที่เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับผู้มีผลประโยชน์ร่วม ทั้งในระดับภายในประเทศ หรือต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะ การคำนึงถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายต้องชัดเจน ไม่กำกวม  มิฉะนั้น กระบวนการประเมินตนเองก็จะมีจุดอ่อนมากมายที่จะมีผลกระทบต่อความเชื่อ และการเติบโตอย่างยั่งยืนของเป้าหมายที่เราต้องการบรรลุถึงนั้น ทั้งนี้ ท่านผู้อ่านสามารถติดตามเรื่องการประเมินตนเอง (Control Self Assessment) ที่ผมเคยได้เล่าสู่กันฟังไปแล้ว เช่น

  1. แนวการประเมินตนเองในแบบ Objective – Based โดยมีแนวทางย่อๆ คือ Objective -> Controls -> Residual Risks -> Assessment
  2. แนวการประเมินตนเองในแบบ Risk – Based โดยมีแนวทางย่อๆ คือ Objective -> Risks -> Controls -> Residual Risks -> Assessment
  3. แนวการประเมินตนเองในแบบ Control – Based โดยมีแนวทางย่อๆ คือ Agreement on existing risks and Controls -> Assessment
  4. แนวการประเมินตนเองในแบบ Process – Based โดยมีแนวทางย่อๆ คือ Process Objectives -> Activity -> Level Objectives -> Assessment
  5. แนวการประเมินตนเองในแบบ Situational Approach โดยมีแนวทางย่อๆ คือ Enables -> Hindrances -> Discuss -> Solutions to Hindrances

ทั้งนี้ ท่านอาจเลือกแนวทางการประเมินตนเองในแบบหนึ่งแบบใด หรือแบบผสม ขึ้นกับวัตถุประสงค์ที่ท่านต้องการเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ในกรอบการดำเนินงานทางธุรกิจ สำหรับการกำกับดูแลและการบริหารจัดการไอทีระดับองค์กร หรือ GEIT – Governance of Enterprise IT ก็อาจใช้เป็นแนวทางหนึ่งในการประเมินความพร้อมของประเทศ ขององค์กร ของหน่วยงาน และแม้แต่บุคลากรได้เป็นอย่างดี และจะเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการก้าวไปสู่ความเชื่อ และการพัฒนาการเติบโตอย่างยั่งยืนแบบบูรณาการที่แท้จริง และเป็นสากล ที่จะได้รับการยอมรับ “ความเชื่อถือ” จากผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมทั่วโลก ซึ่งผมได้เล่าสู่กันฟังแล้วในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Digital Economy 15 ตอน

คำถามบางประเด็น บางมุมมอง สำหรับเป้าหมายที่เราต้องการจะบรรลุถึง ทั้งในระดับประเทศ และในระดับองค์กร ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ

  • ประเทศไทย สามารถจะบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2575 ได้หรือไม่ หากขาดความเชื่อ
  • เศรษฐกิจดิจิตอล กับการกำกับดูแลและการบริหารการจัดการไอทีระดับประเทศ และระดับองค์กร มีความชัดเจนในกรอบการดำเนินงานที่นำไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจนในระดับ Regulators และ Operators หรือยัง เพราะอะไร
  • ทำไมองค์กรบางแห่งที่อยู่ภายใต้กำกับของภาครัฐ จึงไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานของรัฐ และมาตรฐานสากลที่ทำให้เกิดความเสียหายระดับประเทศได้  องค์กรเหล่านี้เขาขาดอะไรในแนวความคิดและแนวปฏิบัติ
  • ทำไมหน่วยงานบางแห่ง จึงถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนเงินมหาศาล ในเรื่องเดียวกันที่ซ้ำๆ กัน ทั้งที่ผ่านการกำกับดูแล ของหน่วยงานกำกับมาแล้ว อะไรคือความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคุณค่าเพิ่ม และการรักษาคุณค่าที่มีอยู่
  • หากหน่วยงานกำกับ ทั้งภายในและภายนอก ไม่มีนโยบายและไม่มีมาตรฐานการกำกับดูแลแบบบูรณาการ ที่เชื่อมโยงระหว่าง Corporate Governance กับ IT Governance เพื่อการสร้างคุณค่าเพิ่มในยุคการพัฒนาที่รวดเร็วทางด้านไอที แนวทางในการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่ขาดกระบวนการกำกับและจัดการทางด้านไอที  ยังควรพิจารณาว่าเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมยุคใหม่ทางด้านไอทีหรือไม่
  • การกำหนดผลประโยชน์ที่จะได้รับควบคู่กันไปกับการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม และการใช้ทรัพยากรที่มีประโยชน์สูงสุด เชื่อมกับปัจจัยเอื้อในการกำกับดูแล และการกำหนดขอบเขตของการกำกับดูแล มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ กิจกรรม และความสัมพันธ์ที่ชัดเจน ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียกับหน่วยงานกำกับดูแล และผู้บริหาร รวมทั้งการดำเนินงานและปฏิบัติตามคำสั่งนั้น มีการกำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนในแต่ละกิจกรรมหรือไม่
  • คณะกรรมการและผู้ับริหาร มีความเข้าใจและให้ความสำคัญของปัจจัยเอื้อที่ก่อให้เกิดความสำเร็จในการบริหารแบบบูรณาการเพียงไร ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่อไปนี้

1. หลักการ นโยบาย และกรอบการดำเนินงาน

2. กระบวนการ

3. โครงสร้างองค์กร

4. วัฒนธรรม จริยธรรม และพฤติกรรม

5. สารสนเทศ

6. บริการโครงสร้างพื้นฐานและระบบงาน

7. บุคลากร ทักษะ และศักยภาพ

 

นอกจากนี้ ก็ยังมีคำถามอื่นๆ ที่เป็นประเด็นย่อยๆ แต่มีนัยสำคัญมากต่อการกำกับดูแล และการบริหารจัดการที่ดี ในองค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งหมดนี้จะอยู่ภายใต้กรอบการประเมินตนเองของผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่ามีความพร้อมเพียงใด และควรจะปรับปรุงเรื่องใด ก่อนและหลัง ในการดำเนินงาน เพื่อสร้าง “ความเชื่อ” ที่สามารถต่อยอดไปยังการพัฒนาการเติบโตอย่างยั่งยืน

ในตอนต่อๆ ไป ผมจะมาเล่าสู่กันฟังในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่ง และเกี่ยวข้องกับกรอบการดำเนินงานทางธุรกิจ สำหรับการดูแลและการจัดการ เพื่อก้าวสู่การพัฒนาการเติบโตอย่างยั่งยืน นะครับ