Digital Economy in Thailand – เศรษฐกิจดิจิตอล (ตอนที่ 10)

กันยายน 4, 2015

การกำกับเศรษฐกิจดิจิตอลแบบบูรณาการควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับภาครัฐ

ก่อนที่ผมจะลงรายละเอียดที่ลึกลงไปในการให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการสร้างกลยุทธ์ หรือวิธีการบรรลุความสำเร็จของเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ที่ต้องใช้กรอบการดำเนินงานในลักษณะการกำกับ การบริหารแบบบูรณาการที่สมบูรณ์เท่านั้น ในตอนที่ 1 – 9 ของเศรษฐกิจดิจิตอล ผมได้ให้ข้อสังเกตของการเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของภาครัฐ ที่เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 โดยสรุปว่า ภาครัฐนั้นมีความพร้อมในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด แต่เมื่อได้เขียนลึกลงไปในรายละเอียดบางเรื่อง ที่เป็นแง่ชวนคิด ชวนตรอง ในการกำกับของรัฐบาลและหน่วยงานกำกับภาครัฐในเรื่องนี้แล้ว โดยส่วนตัวของผมรู้สึกเป็นห่วงอย่างมากว่า หลักการและกรอบการดำเนินงานและปัจจัยต่าง ๆ ที่ควรคำนึงถึงความสำเร็จตามเป้าหมายของเศรษฐกิจดิจิตอลนั้น ยังน่าจะขาดหลักการ นโยบายและกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรจะเชื่อมโยงกับปัจจัยเอื้อที่ก่อให้เกิดความสำเร็จ ตามหลักการการบริหารแบบบูรณาการ ที่ใช้สารสนเทศเป็นทรัพยากรหลักที่มีมาตรฐานเดียวกันสำหรับทุกองค์กร เพราะเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญยิ่ง ตั้งแต่การจัดทำขึ้นจนถึงเวลาที่ทำลายทิ้ง และควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางสังคม สาธารณะ และธุรกิจ

ด้วยหลักการนี้ คำถามว่า รัฐบาลในฐานะผู้กำกับระดับสูงสุดในการกำหนดนโยบายนั้น ควรจะมีกรอบที่ชัดเจนอย่างไรในการที่จะมอบหมายในหน่วยงานกำกับภาครัฐดำเนินการต่อไป ภายใต้กรอบการดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจดิจิตอล สำหรับการกำกับดูแล และการบริหารจัดการไอทีระดับประเทศ ที่สามารถเชื่อมโยงกับระดับโลกได้อย่างมั่นใจ เท่าที่ผมเข้าใจอยู่ในปัจจุบัน เรื่องความเข้าใจของผมนั้น อาจจะมีประเด็นบางมุมมองที่ไม่อาจเข้าถึงสารสนเทศ และกระบวนการในภาพโดยรวมได้ทั้งหมด แต่อยากจะสรุปสิ่งที่ภาครัฐ ซึ่งหมายถึงรัฐบาล ในฐานะเจ้าของนโยบายและโครงการนี้ ควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ผมได้ให้ข้อสังเกตในตอนต้น ๆ มาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า ภายใต้กรอบการกำกับแบบองค์รวมที่สัมฤทธิ์ผล และน่าจะเป็นบทสรุปสำหรับภาครัฐในการกำกับ ดูแล การบริหารเศรษฐกิดิจิตอลให้สัมฤทธิ์ผลตามต้องการนั้น ควรจะต้องคำนึงถึง

  • การดูแลรักษาสารสนเทศให้ได้คุณภาพสูง เพื่อใช้สนับสนุนการตัดสินใจ
  • สร้างคุณค่าทางธุรกิจจากการลงทุน โดยมีไอทีเป็นปัจจัยเอื้อ ได้แก่ การใช้งานไอทีอย่างมีประสิทธิผล และสร้างสรรค์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางกลยุทธ์ และก่อให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ
  • บรรลุการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ ผ่านการใช้งานเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้และมีประสิทธิผล
  • ดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวกับไอที ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
  • ดูแลต้นทุนของการให้บริการทางไอทีและต้นทุนทางเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับ ข้อตกลงตามสัญญา และนโยบายที่เกี่ยวข้อง

เจ้าของนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล ได้แก่ รัฐบาล ที่ควรเป็นผู้กำกับดูแภาพการบริหารแบบบูรณาการ

ในความเห็นของผม ในปัจจุบันวงดนตรีที่ชื่อว่า เศรษฐกิจดิจิตอล ยังขาดวาทยากร หรือผู้ควบคุมวงดนตรีวงนี้ ทั้งนี้เพราะ ผมได้เห็นและได้ยินเสียงดนตรีจากผู้เล่นที่ขาดการประสานงานกันอย่างค่อนข้างชัดเจน และบางครั้งหรือส่วนใหญ่ต่างคนต่างเล่นในเครื่องดนตรีที่ตนถนัด โดยขาดความสนใจหรือให้ความสนใจน้อยต่อผู้เล่นดนตรีชิ้นอื่น ๆ ที่อยู่ในวงเดียวกัน ทำให้ขาดการประสานเสียงที่ดี ขาดจังหวะจะโคนที่ดี ขาดน้ำหนัก ท่วงทำนอง +++ แทนที่ทำให้ดนตรีไพเราะ เสนาะหู ทำให้ผู้ฟังได้อารมณ์สุนทรี กลับเป็นไม่ประทับใจ ที่ผมพูดในเชิงเปรียบเทียบเช่นนี้ก็เพื่อที่จะให้ข้อคิดว่า ประเทศไทยในภาพโดยรวม จะก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอลได้อย่างไร หากขาดผู้นำภาครัฐที่มีความเข้าใจถึงคำจำกัดความของคำว่า เศรษฐกิจดิจิตอล และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีอยู่มากมายที่ต้องนำมาเชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อในลักษณะการวางกรอบ การกำกับ การบริหารแบบบูรณาการที่ใช้ไอทีเป็นตัวขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ในการก้าวไปสู่ความสำเร็จของเศรษฐกิจดิจิตอลในการดำเนินงาน

หากประเทศไทยขาดการวางแผนแบบบูรณาการ ที่ต้องเข้าใจองค์ประกอบต่าง ๆ ของการกำกับดูแล ที่คาดหวังในการสร้างคุณค่าเพิ่มจากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ได้สารสนเทศที่น่าเชื่อถือได้ในมิติต่าง ๆ จะมีผลกระทบต่อการสร้างคุณค่าเพิ่มจากการใช้ประโยชน์จากสารสนเทศ และกระบวนการกำกับ ดูแล การจัดการและการใช้ประโยชน์จากผู้มีผลประโยชน์ร่วม ทั้งภายในและต่างประเทศ ในการพิจารณา ตัดสินใจลงทุน สามารถลดต้นทุน ประหยัดเวลา และสร้างประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลนี้ได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง โดยจัดให้มีการพัฒนา และให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะนักธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการต่าง ๆ ของรัฐได้อย่างสะดวก และจะสร้างกลไกในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทุกระดับ

รัฐบาลควรจะกำหนดกรอบ และการบริหารแบบบูรณาการเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างไร

เมื่อเริ่มต้นจั่วหัวข้อแบบนี้ อาจมีคำถามว่า รัฐบาลคือใคร? หรือใครคือรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบ หรือ ครม. ทั้งชุดที่ควรรับผิดชอบเรื่องเหล่านี้ร่วมกัน หากเป็นจริงได้ นี่คือความฝันของผมที่ใคร่จะเห็นการร่วมกันทำงานของ ครม. ทุกท่าน ในการขับเคลื่อนความสำเร็จของประเทศไทย ไปสู่วิสัยทัศน์ หรือกลยุทธ์ที่นำประเทศไทยไปสู่ “ประเทศพัฒนาแล้ว ภายในปี พ.ศ. 2575” เพราะ ครม. ทุกท่านก็คือรัฐบาลของประเทศไทยนั่นเอง หากรัฐบาลมีการมอบหมายให้รัฐมนตรีที่ควบคุมด้าน ICT เป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของตนไปตามลำพัง และรัฐมนตรีอื่น ๆ ก็รับผิดชอบเฉพาะงานในกระทรวงของตนเองเป็นหลัก ก็จะไม่เกิดการประสานงานกันอย่างบูรณาการตามที่ได้กล่าวมาแล้ว …เอ… หรือ ผู้รับผิดชอบสูงสุดก็ควรจะได้แก่นายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้กำกับดูแลการทำงานของรัฐมนตรีทุกกระทรวง มุมมองนี้นายกรัฐมนตรีก็คือ “วาทยากร หรือผู้ควบคุมวงดนตรีที่ชื่อ เศรษฐกิจดิจิตอล” นั่นเอง แต่…

ฟังดูเข้าที แต่การจะให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบดูแลงานทางด้านเศรษฐกิจดิจิตอลให้เป็นไปตามนโยบาย และความคาดหวังที่ต้องการนั้น น่าจะเป็นภารกิจที่ยากยิ่งในทางปฏิบัติ เนื่องจากความสนใจ และแนวความคิดในเรื่องนี้ย่อมแตกต่างกันไปตามทัศนคติของผู้นำระดับสูงสุดแต่ละท่าน ข้อสำคัญมากกว่านั้นก็คือ มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย จึงทำให้ขาดความต่อเนื่อง และความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างแท้จริง นี่คือความเสี่ยงที่สำคัญยิ่งของประเทศไทยที่จะนำพาประเทศไปสู่ความฝันอันยิ่งใหญ่ที่ดีนี้ได้ ถ้าเช่นนั้นคำตอบควรเป็นเช่นใด…

แนวทางแก้ไขปัญหาจุดอ่อนของกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลแบบบูรณาการ

หากระบุปัญหาและอุปสรรคของการบริหารแบบบูรณาการให้ครบจนจบความ ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์สุดท้ายหรือวัตถุประสงค์สูงสุดในเรื่องใด หากผู้นำมีความเข้าใจที่แตกต่างกับการบริหารแบบบูรณาการที่องค์กรระหว่างประเทศได้ศึกษาร่วมกันมาแล้ว ก็จะเกิดความท้อแท้ในการกำกับ ดูแลที่ดี ซึ่งแน่นอนว่า จะมีผลสะท้อนไปยังกระบวนการบริหารและการปฏิบัติงานที่ดีที่ควรจะเป็นไปตามกรอบที่ดีด้วย เช่น ระบุปัญหาและอุปสรรค ของการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิตอลออกมาในมิติต่าง ๆ ออกมาทั้งภาพใหญ่และภาพย่อยนั้น ก็จะพบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ซึ่งหากมีการมอบหมายไปยังกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ให้ปฏิบัติภายใต้กรอบ อำนาจและหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม นั้น ๆ ก็จะเกิดการกำกับ การบริหาร การปฏิบัติในลักษณะ Silo-based ขึ้นอีก และมีปัญหาให้ต้องแก้ไขจุดอ่อนต่าง ๆ อย่างไม่สิ้นสุด กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลต้องขจัดปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในลักษณะ Silo-base นี้ให้หมดสิ้นไปตั้งแต่ขั้นตอนวางแผน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขั้นตอนกำหนดนโยบาย และกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้อง++

เมื่อศึกษาไปแล้วจะพบว่า จะมีคำตอบเดียวในการขจัดปัญหาต่าง ๆ เพื่อก้าวไปสู่การบริหารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปนั่นคือ

  • กำหนดเป็นหลักการ หรือเป็นกฎหมาย หรือวิธีการอื่นใด รวมทั้งการกำหนดงบประมาณ ในการสนับสนุนนโยบาย และกลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
  • กำหนดมาตรฐานการดำเนินงาน ที่ใช้เป็นมาตรฐานในการกำกับดูแล การบริหาร การปฏิบัติการ ภายใต้กรอบการดำเนินงานทางธุรกิจ ในที่นี้ก็คือ การดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจดิจิตอลสำหรับการกำกับดูแล และการบริหารจัดการไอทีระดับประเทศ ที่ควรจะนำหลักการ การจัดการไอทีระดับองค์กรมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง
  • ทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่ใช้ข้อมูลและสารสนเทศจากนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล จะมีความรับผิดชอบโดยตรงในแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ที่ประสานเป็นหนึ่งเดียวกันกับกรอบที่เป็นไปตามหลักการกำกับดูแล และการบริหารจัดการไอทีระดับประเทศ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล
  • +++ โปรดดูข้อคิดชวนตรองของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ตั้งแต่ตอนที่ 1 – 9 ที่ผ่านมา

แผนภาพแนวการบริหารเศรษฐกิจดิจิตอลแบบบูรณาการ

กรอบและโครงสร้างการดำเนินงานเศรษฐกิจดิจิตอล

กรอบและโครงสร้างการดำเนินงานเศรษฐกิจดิจิตอล 2